กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--WWF ประเทศไทย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เปิดเผยว่า เสือโคร่ง ช้าง หมี และตัวลิ่ม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายกันมากที่สุด 4 อันดับแรก ในเขตสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเป็นพื้นที่การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างเสรี ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค โดยสัตว์ที่นิยมซื้อขายรองลงมา คือ แรด เลียงผา นกเงือก กระทิง เสือดาวและเต่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งสิ้น
รายงาน 10 อันดับสัตว์ป่าที่มีการลักลอบซื้อขายมากที่สุด จัดทำโดย WWF และอ้างอิงข้อมูลจากองค์กร TRAFFIC ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยการสำรวจตลาดลักลอบค้าสัตว์ป่า ร้านขายสินค้าจากสัตว์ป่า และร้านอาหารที่มีเมนูสัตว์ป่าในพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พบว่า การซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เป็นภัยคุกคามชีวิตสัตว์ป่าทั่วทั้งทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ลูกค้าหลักที่สำคัญคือ นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเวียดนาม ซึ่งนิยมเดินทางมาซื้อสินค้าจากสัตว์ป่าที่ตลาดเมืองลา (Mong-La) และตลาดท่าขี้เหล็กในประเทศเมียนมาร์ หรือตลาดใกล้ชายแดน เช่น ตลาดบ่อเต็น และเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศลาว
Chrisgel Cruz ที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านการค้าสัตว์ป่า ประจำ WWF ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า "สัตว์ป่าจำนวนมากอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ปัจจัยหลักเกิดการจากค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก พื้นที่ชายแดน เช่น สามเหลี่ยมทองคำเป็นจุดที่การลักลอบค้าขายเหล่านี้แพร่หลายมากที่สุด และเราต้องหาวิธีการหยุดยั้งความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้"
พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเป็นเส้นทางลักลอบขนส่งและซื้อขายเสือโคร่งตามธรรมชาติ และเสือโคร่งจากฟาร์มส่งป้อนให้กับภัตตาคารร้านค้า ซึ่งจะนำกระดูกเสือโคร่งไปดองเหล้า หรือนำเนื้อไปประกอบอาหาร รวมถึงการแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับราคาแพง ขณะที่ความต้องการหนังช้างตากแห้ง และงาช้างก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนคุกคามความอยู่รอดของช้างในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ส่วนฟาร์มหมี ซึ่งเป็นที่นิยมเปิดกันอย่างแพร่หลายในภูมิภาค ก็ทำให้หมีหมา (Sun Bears) และหมีควาย (Asiatic Black Bears) ตามธรรมชาติถูกจับมาขังมากขึ้นเรื่อยๆ ฟาร์มหมีเหล่านี้ จะนำหมีมารีดน้ำดี เพื่อสกัดเป็นยา ที่เชื่อว่าจะรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่หลักฐานทางการแพทย์รับรองความเชื่อดังกล่าว
Bill Possiel ผู้อำนวยการด้านงานอนุรักษ์ ประจำ WWF ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่า "ฟาร์มหมีและฟาร์มเสือโคร่ง รวมไปถึงร้านค้าสินค้าจากสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายที่เปิดอยู่ทั่วพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตสัตว์ป่า ทั้งนี้ ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นที่รู้จักในฐานะจุดหมายปลายทางและตลาดรับซื้อขายสัตว์ป่าสายพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเราต้องหาทุกวิถีทางเพื่อปิดตลาดเหล่านี้ ก่อนที่สัตว์ป่าจะสูญพันธุ์ไปหมดโลก"
จากสถิติพบว่า แรดแอฟริกา จะถูกล่าและฆ่าทิ้งเฉลี่ยวันละ 3 ตัว เพื่อสนองตอบความต้องการนอแรดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่าการมีนอแรดในครอบครองเป็นสัญลักษณ์แทนความร่ำรวย หรือนำมาใช้เป็นส่วนผสมผลิตยาสมุนไพร ซึ่งเชื่อว่าช่วยรักษาอาการเมาค้างและอาการไข้ได้ ทั้งที่ในความจริง นอแรดมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับเล็บของมนุษย์ และไม่มีผลการรับรองว่ามีคุณสมบัติทางยาแต่อย่างใด โดยล่าสุด มีความนิยมนำนอแรดมาแกะสลักทำเป็นเครื่องประดับ
ตัวลิ่ม (Pagolin) เป็นสัตว์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีความต้องการสูงมากในจีน และเวียดนาม และถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีการลับลอบซื้อขายมากที่สุดในโลกอีกด้วย นกชนหิน (Helmeted Hornbill) เป็นหนึ่งในตระกูลนกเงือกหายากชนิดหนึ่ง จากจุดเด่นของงอยปากที่มีรูปร่างโค้งคล้ายหมวกกันน็อกและแข็งแรง ทำให้ถูกล่าเพื่อนำมาแกะสลักเป็นเครื่องประดับ ซึ่งตลาดใหญ่ที่รับซื้อนกชนหินก็คือประเทศจีน
เลียงผา (Serow) ก็เป็นสัตว์อีกประเภทที่นิยมลักลอบซื้อขายกัน เพื่อนำเนื้อไปบริโภค หรือชิ้นส่วนต่างๆ ไปผลิตยาสมุนไพร เป็นที่นิยมอย่างสูงในประเทศลาว ขณะที่ เสือดาว (Leopards) ซึ่งครั้งหนึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นป่าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็กำลังเผชิญภัยคุกคามอย่างหนักจากการล่า เพื่อสนองตอบความต้องการหนังเสือดาวและกะโหลก
นอกจากนี้ เต่า (Turtles) ก็นิยมซื้อขายทั้งในแบบมีชีวิตและในรูปแบบเครื่องประดับ รวมไปถึงเนื้อเต่าก็นิยมเสิร์ฟกันในร้านอาหาร สัตว์ชนิดสุดท้ายที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือ กระทิง (Gaur) ด้วยเขากระทิงที่มีสวยงามทำให้มีความต้องการจากตลาดการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างมาก เพื่อนำมาใช้ตกแต่งบ้าน
ที่ผ่านมา WWF มุ่งมั่นทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน อย่างเช่น องค์กร TRAFFIC และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ระดับท้องถิ่นหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อหาทางหยุดยั้งการค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการค้าขายสัตว์ป่าในทวีปเอเชีย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปิดตลาด ร้านค้า ภัตตาคาร และร้านค้าออนไลน์ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้ได้อย่างน้อย 20 แห่ง ภายในปี 2563 WWF ยังผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษสำหรับการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าสัตว์ป่าให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
James Compton ผู้อำนวยการอาวุโสประจำองค์กร TRAFFIC กล่าวว่า "TRAFFIC มีความเชี่ยวชาญด้านปัญหาการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยเราได้ทำงานร่วมกับ WWF มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาการซื้อขายสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่ชายแดน"
นอกจากนี้ WWF ยังสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งทุ่มเททำงานเพื่อปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์จากกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ทั้งนี้ ภารกิจที่เร่งด่วนคือ การให้การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์พื้นฐานในการปฏิบัติงานในป่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง และอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูงที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการสกัดกั้นการลักลอบล่าสัตว์ได้อย่างทันท่วงที