กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--Med Agency
หลังจากออกสตาร์ท กับ โครงการ "ก้าวละคนก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" โครงการวิ่งมาราธอนการกุศลครั้งใหญ่ของนักร้องหนุ่มจิตใจงาม อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ก็เกิดดราม่าเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผู้ที่เขียนโพสต์ด่าว่าตูนหากินกับโรงพยาบาล
กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com รายงานว่า ประเด็น ตูน บอดี้สแลมนั้น คนส่วนใหญ่จะชื่นชอบ ในความมีจิตอาสา และหวังให้คนไทยทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ โภชนาการ และการออกกำลังกายมากขึ้น
ขณะที่คนในระบบสาธารณสุข ก็สนับสนุนและชื่นชอบ พร้อมให้กำลังใจ โดยเฉพาะกับ แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา แกนนำกลุ่มพลังแพทย์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงาน Thai Medical Law Service Office หรือ สำนักงานกฎหมายการแพทย์
และ แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข ที่ปรึกษาสำนักกฎหมาย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาสนับสนุนอีกด้วย
ล่าสุด ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ เข้าใจดีว่า แม้การวิ่งของตูน จะเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่เมื่อจบโครงการวิ่งของตูนแล้ว เราจะทำอย่างไร ซึ่งนั่นก็หมายถึงการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ทั้งๆ ที่แนวทางการแก้ไขปัญหาสามารถทำได้เลยวันนี้
เนื่องจาก ปัญหาที่สั่งสมตอนนี้มีหลายด้าน โดยเฉพาะ "บุคลากรทางการแพทย์" ที่ต้องเจอปัญหาการทำงานหนัก ติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง เนื่องจากแพทย์ไม่มีเพียงพอต่อภาระงาน
ขณะที่ แพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา กล่าวกับ กองบรรณาธิการข่าว เว็บไซต์สุขภาพ medhubnews.com ว่า "ต้นเหตุแห่งปัญหาก็คือ รพ.ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากสำนักงบประมาณ แต่ต้องขอรับงบประมาณจาก สปสช.หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ซึ่ง สปสช.จ่ายงบประมาณไม่เท่ากับค่าใช้จ่ายของรพ. เรียกว่า รพ.มีหนี้สูญจากสปสช.ปีละหลายพันล้านบาท ฉะนั้นรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องแยกบัญชีรายรับรายจ่ายจากสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และสปสช. เพื่อให้รู้ว่าระบบไหนทำให้รพ.มีหนี้สูญมากที่สุด จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องสั่งการด่วน ให้โรงพยาบาลทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข แยก ( และ แจกแจง) บัญชีรายรับรายจ่ายในการรักษาผู้ป่วยในแต่ละระบบ
คือระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่า ระบบไหน มีหนี้ค้างชำระที่ยังไม่จ่ายแก่โรงพยาบาลเท่าใดบ้าง
การแสดงรายละเอียดทางบัญชีเช่นนี้ นอกจากจะได้รู้ว่า สปสช.เบี้ยวหนี้รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่าไรแล้ว ก็ยังจะรู้อีกว่า งบประมาณกองทุนสปสช.( หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ) นั้น หายออกไปจากระบบแท่าใด
เนื่องจากงบประมาณที่ส่งไปให้โรงพยาบาลนั้นมันรวมกันแล้วไม่เท่ากับงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายมาให้แก่ สปสช.
ส่วนกรณีที่หลายๆ คนอ่านแล้ว อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เหมือนมีการต่อว่าตูนนั้น หากอ่านดีๆ จะรู้ว่าหมอทั้งหมด ชื่นชมตูน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำให้สังคม ประชาชนทั่วไป ร่วมรับรู้ว่างบประมาณของรพ.กระทรวงสาธารณสุขไม่พอ
รัฐบาลจะต้องดูว่าปัญหาที่งบไม่พอเพราะรพ.ต้องรอรับงบประมาณจากสปสช. และสปสช.ให้งบไม่เท่าต้นทุนที่รพ.ใช้ ไป ในการรักษาผู้ป่วยมายาวนานตั้งแต่มี ระบบสปสช.
แม้ว่า สปสช.อ้างว่าเป็นผู้ซื้อบริการจากรพ.กระทรวงสาธารณสุข แต่ สปสช. "บังคับซื้อ" ในราคาที่สปสช.กำหนดเอาเอง และไม่สนใจว่ารพ.จะขอเบิก "ราคาขายบริการทางการแพทย์" ไปเท่าไร สปสช.จะจ่ายตามราคาที่ตนเองคิดเอาเองเท่านั้น
ซึ่งราคาที่สปสช.จ่ายมันน้อยกว่าเงินที่รพ.ใช้ไป แต่ สปสช.ไม่จ่าย รพ.ควรลงบัญชีว่าเป็นหนี้ที่เรียกเก็บจากสปสช.ไม่ได้
รพ.มีสถานภาพเป็นเจ้าหนี้ รักษาผู้ป่วยในความรับผิดชอบของสปสช.แต่สปสช.มีหนี้ค้างชำระ แต่ไม่ยอมรับผิดชอบจ่ายหนี้ รพ.จึงขาดทุนเพราะหนี้สูญจากสปสช.อีกด้วย