กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยบุคลากร จัดโครงการ "การศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดีโดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐาน" ให้แก่นักเรียนโรงเรียนลำปางกัลยาณี และโรงเรียนบ้านอ้อน จังหวัดลำปาง ๒ ใน ๑๐ แห่งของโรงเรียนนำร่องจากทั่วประเทศ ร่วมกันนำเสนอวิถี วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของลำปาง ร้อยเรียงเป็นเรื่องราว สู่เส้นทางการท่องเที่ยวแบบเก๋ไก๋ในมุมมองของเยาวชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ให้สัมภาษณ์ว่า "โครงการนี้เป็นความร่วมมือของกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในอันที่จะศึกษาองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ผ่านแบบเรียน เอกสาร ความเข้าใจของท้องถิ่น ผ่านมุมมองของนักเรียน ตามกระบวนการแผนที่ชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สังเกต สัมภาษณ์ ทำให้เห็นรากเหง้า ตัวตน ของตัวเองและชุมชน เกิดความสำนึก หวงแหน ดูแลรักษาสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน จนนำไปสู่ความเข้าใจที่เรียกว่าการเป็นเจ้าบ้านที่ดี"
ภายหลังการอบรม ตัวแทนนักเรียนจาก ๒ โรงเรียนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง เป็นมัคคุเทศก์ต้อนรับ นำเที่ยวในท้องถิ่นของตัวเอง รูปแบบ One day Trip ประกอบด้วย One day Trip in Nakhon Lampang โดยมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนลำปางกัลยาณี เริ่มจากวัดเชียงราย, ร้านข้าวมันไก่ห้าแยก, หอนาฬิกา, วัดศรีรองเมือง, สถานีรถไฟ, วัดศรีชุม, ร้าน Take a Test, วัดจองคา, วัดป่าฝาง, ร้านครัวมุกดา, สถานีรถม้า, สะพานรัษฎาภิเศก และกาดกองต้า ส่วนมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนบ้านอ้อน อำเภองาว เป็น One day Trip บ้านอ้อน-หล่มภูเขียว เน้นเส้นทางท่องเที่ยวแนวธรรมชาติและวิถีชุมชน ประกอบด้วย หล่มภูเขียว, สรงน้ำพระ ถวายสังฆทาน ณ วัดบ้านอ้อน, พิธีสู่ขวัญ, รับประทานอาหารแบบขันโตกพร้อมชมการฟ้อนเล็บ, ชมชิมผลิตภัณฑ์พื้นเมือง เช่น จักสาน, ตุง และกล้วยบาบีคิว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "เส้นทางท่องเที่ยว One day Trip มีหัวใจสำคัญคือการพัฒนาการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ด้วยการทำให้นักเรียน นักศึกษา และคนในท้องถิ่นมองเห็นว่า วิถีชีวิตธรรมดา ๆ สิ่งที่พบเห็นทั่วไป ไม่มีจุดเด่นอะไร แท้จริงแล้วมีเสน่ห์ มีความน่าสนใจซ่อนอยู่ และสามารถดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนได้ยล ได้สัมผัส อย่างมีความสุข สนุกสนาน และประทับใจ กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่สร้างความภาคภูมิใจและสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนได้อีกด้วย"
หลังจากนี้ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จะลงพื้นที่อบรมมัคคุเทศก์น้อย สร้างเส้นทางท่องเที่ยว One day Trip อีกจำนวน ๘ โรงเรียนทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ผ่านกระบวนการประชารัฐ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวแหล่งใหญ่ ภายใต้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต นับเป็นแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล "ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน"