กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--
จุฬาฯ เปิดแผนธุรกิจ ขยายบริการศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการใหม่ตอบโจทย์คนทำงานยุค 4.0 "CU-TEC" การทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงาน ขณะที่ผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ต่างชี้ถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศชาติ
รองศาสตราจารย์ สุทัศน์ รัตนเกื้อกังวาน กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาฯ ได้เปิดให้บริการใหม่ คือ การทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หรือ Chulalongkorn University Test of English for Communication หรือ CU-TEC ซึ่งเป็นการวัดความรู้และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้ง 4 ทักษะ ประกอบไปด้วย CU-TEC Listening & Reading เป็นการวัดทักษะด้านการฟังและการอ่าน และCU-TEC Speaking & Writing เป็นการวัดทักษะด้านการพูดและการเขียน โดยจะทำการทดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อนำผลทดสอบไปใช้ในการสมัครงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลทดสอบดังกล่าวได้รับความมั่นใจจากองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ "ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดบริการใหม่ CU-TEC เพื่อตอบโจทย์คนทำงานยุค 4.0 ที่ภาษาอังกฤษถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่ง CU-TEC เป็นการทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงาน ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการนำผลการทดสอบไปใช้ในการทำงาน และหลายองค์กรชั้นนำได้เชื่อมั่นในการทดสอบดังกล่าว"รองศาสตราจารย์ สุทัศน์ กล่าว ทั้งนี้ผลคะแนนสอบ CU-TEC สามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครงานในหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งบางบริษัทใช้ผลสอบ CU-TEC เป็นตัวชี้วัดในการเพิ่มเงินเดือน และเลือนตำแหน่ง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาทดสอบส่วนใหญ่จึงเป็นนักศึกษาที่ใกล้จะเรียนจบหรือพนักงานจากบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ต่างๆ หลากหลายสายงานที่ต้องการความก้าวหน้าในสายอาชีพ สำหรับในประเทศไทยนั้น มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน สถาบันชั้นนำ อาทิ ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว การขนส่ง สถาบันการเงิน ยานยนต์ ปิโตรเคมี รวมทั้งบริษัทข้ามชาติชั้นนำ ได้นำไปใช้ในด้านต่างๆ เช่น สำหรับพิจารณาทักษะทางภาษาอังกฤษเพื่อรับสมัครเข้าทำงาน ปรับเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือเพื่อคัดเลือกเพื่อไปอบรมสัมมนาต่างประเทศ เป็นต้น กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานของแบบทดสอบ จนได้รับการยอมรับในเรื่องมาตรฐานในการทดสอบ สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงด้านการทดสอบทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแบบทดสอบประเภทต่างๆ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รับบริการในทุกระดับ นางสาวชิดชนก นุตาลัย นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เข้าทดสอบและนำผลทดสอบไปใช้ในการทำงาน กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารภาษาอังกฤษมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการทำงาน เพราะบริษัทต่างๆ ได้เอาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษมาเป็นตัวสกรีนเพื่อคัดกรองเอาคนที่มีคุณภาพมากที่สุด ดังนั้นการทดสอบทางด้านภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานทุกสายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานการบิน งานโรงแรม งานท่องเที่ยว การทำงานในบริษัทข้ามชาติ ที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ผลสอบเหล่านี้จะช่วยยืนยันว่าคุณมีความสามารถในการใช้ภาษา เมื่อคุณยื่นผลการสอบประกอบการสมัครงานก็จะช่วยให้ตัวคุณน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผลการสอบวัดระดับภาษายังช่วยปรับเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง เรียกว่าช่วยให้โอกาสของคุณเปิดกว้างมากขึ้น "การทดสอบระดับความรู้ทางภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการทำงาน บางบริษัทสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการเพิ่มเงินเดือนเลยก็ว่าได้ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่อยู่ในระดับต่ำมักเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจผิด และความล่าช้าในหลายกรณีในการทำงาน ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่มาปิดกั้นความก้าวหน้าทางอาชีพเลยก็ว่าได้"นางสาวชิดชนก กล่าว นางสาวชิดชนก กล่าวต่อว่า ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญมากและสำคัญไปกว่านั้นก็คือมาตรฐานของผลทดสอบ ซึ่งศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรฐานในการทดสอบระดับความสามารถทางภาษาอันดับหนึ่งของประเทศ จึงมีความมั่นใจที่ใช้บริการศูนย์ทดสอบแห่งนี้ และเชื่อมั่นว่าทุกบริษัทที่ใช้ผลทดสอบด้านภาษาอังกฤษมาเป็นตัวคัดกรองทั้งการรับสมัครบุคลากรและเลื่อนตำแหน่งงานมีความมั่นใจในมาตรฐานอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในมุมมองของสายงานของอาจารย์โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารถือเป็นข้อกำหนดของทุกมหาวิทยาลัยที่จะรับสมัครบุคลากรเข้ามาทำงาน ทำให้คนที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดีเรียกว่าเป็นแต้มต่อให้กับคนนั้น เพราะการทำงานในสายอาจารย์ภาษาอังกฤษมีความจำเป็นอย่างมากทั้งการอ่าน การจับใจความ และการเขียนผลงานวิจัย รวมถึงการนำเสนองานทุกอย่างต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด นอกจากนี้ในเกือบทุกๆ ธุรกิจ การใช้ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษากลางในการสื่อสาร เจรจาธุรกิจ ซึ่งบางองค์กรโดยเฉพาะองค์กรที่เป็นต่างชาติ การสื่อสารระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องภาษาอังกฤษถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ ดร.บูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ในฐานะอดีตผู้บริหารบริษัทข้ามชาติที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และเล็งเห็นว่าบุคลากรที่มีศักยภาพถือเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร กล่าวว่า ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน ความรู้ภาษาอังกฤษถือเป็นทักษะที่มีประโยชน์มากในสนามแข่งขันของการหางาน ทุกองค์กรต่างเรียกร้องผลทดสอบภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นตัวกรองหลักด่านแรกของการสมัครงาน ภาษาอังกฤษจึงถือเป็นภาษาแห่งโอกาส นอกเหนือจากจะได้รับโอกาสให้ได้ทำงานในบริษัทดีๆ แล้ว โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นก็มีมากกว่า และคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีจะได้รับค่าจ้างมากขึ้น ปัจจุบันนี้ หลาย ๆ บริษัทจะให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน ในการลงประกาศรับสมัครงาน ภาษาอังกฤษเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่คนทำงานต้องมี หากใครไม่สามารถพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษได้ โอกาสการได้งานทำก็จะมีน้อยลง การพูดภาษาอังกฤษได้เพียงเล็กน้อย หรือเขียนได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความเข้าใจในการใช้ภาษาได้กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในการหางาน หรือทำงาน เราจำเป็นต้องมีความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี "ในปัจจุบันการสมัครงานเพื่อที่จะสามารถเข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรดีๆ มีการแข่งขันกันสูง เนื่องจากงานที่ดีไม่สามารถตอบรับการสมัครงานของผู้ที่สมัครงานได้ทุกคน การพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานรวมถึงทักษะทางด้านภาษาต่าง ๆ เช่นภาษาอังกฤษจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การทำงานของคุณมีความก้าวหน้า ซึ่งมองว่าหากคนไทยมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีแล้วไม่มีทางแพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน" ดร.บูรณวงศ์ กล่าว ดร.บูรณวงศ์ กล่าวอีกว่า การที่เรามีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษสูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคนต่างชาติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งการออกไปดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศ รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ปัจจุบันคนทำงานในภูมิภาคอาเซียนจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร มีการเดินทางเข้าออกของคนทำงานได้อย่างเสรีมากขึ้น ภาษาอังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญ เมื่อเราไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นของเพื่อนบ้านได้ทุกภาษาแต่ต้องการติดต่อสื่อสาร เราจำเป็นที่จะต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและต้องทำให้ได้คล่องแคล่ว ดังนั้นเมื่อมีการเปิด AEC อย่างเต็มตัวแล้ว เราจะรู้ว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน หากพูดไม่ได้ก็จะเกิดอุปสรรค เราจึงต้องหมั่นฝึกฝนให้ดี เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสที่จะเข้ามา ทั้งนี้เมื่อบุคลากรในองค์กรสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานในองค์กรก็จะราบรื่นมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจขององค์กร การไม่มีปัญหาการสื่อสารกับลูกค้าชาวต่างชาติ ก็จะทำให้หน่วยงานพร้อมบริการลูกค้าชาวต่างชาติอย่างมั่นใจ "ปัจจุบัน 60% ของการใช้สื่ออินเตอร์เน็ทออนไลน์ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษ และนอกเหนือจากนี้อีกกว่า 80% ในการทำธุรกิจหรือสัญญาต่างๆ จะถูกเขียนโดยใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นองค์กรจำเป็นต้องสร้างบุคลากรให้มีความเข้าใจทางภาษาอย่างถูกต้อง จึงจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเกิดความแข็งแกร่งซึ่งจะได้เปรียบคู่แข่งทางการค้า" ดร.สมฤดี ศรีจรรยา ประธานสถาบันการตลาดเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Social Marketing Academy of Thailand : SMAT) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญยิ่งและเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก การติดต่อสื่อสารและทำธุรกิจล้วนต้องใช้ภาษาอังกฤษไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำการค้าภายในประเทศเองก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานระดับนึง ขณะที่ถ้าเป็นองค์กรที่เป็นโกลบอลแล้วพนักงานหรือคนในองค์กรนั้นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษระดับสูง เพราะการที่พนักงานมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษจะทำให้องค์กรนั้นมีความได้เปรียบทางการแข่งขันได้มากกว่า "โลกธุรกิจในยุคปัจจุบันคนในองค์กรที่จะติดต่อกับบริษัทต่างชาติไม่เพียงแต่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เท่านั้น แต่ภาษาต้องดีเหมือนเจ้าของภาษาเลย จะทำให้มีโอกาสในการประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างอย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่คนในประเทศใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจะเห็นว่าจะสามารถสร้างโอกาสการเติบโตให้กับประเทศได้มากกว่า โอกาสสร้างการเติบโตของ GDP ได้มากกว่าประเทศที่คนใช้ภาษาอังกฤษน้อยกว่า" ดร.สมฤดี กล่าว ดร.สมฤดี กล่าวต่อว่า การศึกษาของประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง สิ่งที่ควรจะเน้นให้กับนักศึกษาไทยคือเรื่องของภาษา ไม่เฉพาะแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น รวมถึงหลายๆ ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ภาษาที่ 2 หรือ 3 จึงเปรียบเสมือนอาวุธประจำกายของคนที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน
ดังนั้นหากพูดถึงคนทำงานถ้าคนไหนมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษที่ดีจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับตัวเองที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในองค์กร ขณะเดียวกันถ้าเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการเลือกพนักงานที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ จะทำให้องค์กรนั้นมีโอกาสเติบโตไปเป็นองค์กรขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วในระดับโลก คุณจะก้าวกระโดดทันทีไม่แค่ลูกค้าในประเทศไทยเท่านั้น แต่คุณจะมีลูกค้าไปทั่วโลก