กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
สคช. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจัดสัมมนา " สมรรถนะของคน หุ่นยนต์ เทคโนโลยี ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต " พร้อมออกมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รองรับกำลังคนในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ที่กำลังจะลดจำนวนลง เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ตอบสนองการควบคุมกระบวนการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีแทนคนในอีก 3- 5 ปีข้างหน้า
ดร. ประสาทศิลป์ อ่อนอรรถ ประธานคณะรับรองมาตรฐานอาชีพผลิตชิ่นส่วนยานยนต์ เปิดเผยในงานสัมมนา " สมรรถนะของคน หุ่นยนต์ เทคโนโลยี ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต " จัดโดย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและสภาอุตสาหกรรมว่า ตามที่กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ( เมติ ) ได้ทำการสำรวจและวิจัยสถานการณ์การเติบโตของการผลิตรถยนต์จากหลายค่ายพบว่า จากนี้ไปพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของมวลมนุษยชาติจะเกิดปรากฏการณ์ 4 เทรนด์ ที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ Sharing , Connected , EV , และ Self Driving Car
ทั้งนี้ Sharing คือ เกิดการใช้บริการรถยนต์สาธารณะผ่านแอพลิเคชั่น เช่น อูเบอร์ ในหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2009 ส่งผลให้การซื้อรถขนาดกลางไปถึงหรูลดลงมาเรื่อยๆ เพราะสามารถเรียกใช้บริการจากอูเบอร์ได้ แม้กระทั่งผู้ผลิตรถหรูหลายค่ายเริ่มสนใจเข้ามาในตลาด Sharing Market กันมากขึ้น
Connected คือ เทรนด์ในการใช้ข้อมูลกลางร่วมกันในการพัฒนาชิ่นส่วนยานยนต์ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างผลิตดังที่ผ่านมา ชิ่นส่วนสามารถใช้ได้กับรถทุกยี่ห้อ การผลิตอะไหล่ที่สามารถตอบสนองรถอูเบอร์เป็นปัจจัยสำคัญ
ทางด้านการผลิตรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า คือ หนึ่งในทางเลือกของโลกอนาคตที่ต้องการลดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV หรือ Electronic Vehicle มากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ในปี คศ. 2030 หลายประเทศทั้งจีน, อินเดีย, อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างออกนโยบายให้รถยนต์ในประเทศนั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และในที่สุดแล้ว พัฒนาการของยานยนต์จะสามารถไปไกลถึงขั้นสูงสุดที่สามารถขับเองได้โดยไม่ต้องใช้คน ไม่มีพวงมาลัยรถ สั่งการด้วยการกดปุ่มรถก็เคลื่อนที่ได้ตามที่เราต้องการ ( Self Driving Car )
นายวัชรพงศ์ วราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งนี้ สร้างผลกระทบไปถึงหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปถึงปีถึงปี 2026 ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถยนต์แบบเดิม แน่นอนว่าแนวโน้มนี้จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ดังนั้น หากยังไม่เตรียมความพร้อม จะเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างมาก และมีผลกระทบกับปัญหากำลังคนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาสมรรถนะตนเอง จึงเป็นที่มาของการที่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จับมือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการจัดทำมาตรฐานอาขีพของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ เพราะจากนี้ไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า ค่ายรถยนต์จะมุ่งผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งชิ้นส่วนนั้นผลิตง่ายกว่า ใช้หุ่นยนต์มาแทนคนในกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และมีต้นทุนต่ำกว่า โอกาสที่แรงงานจะหายไปจำนวนมากจะเกิดขึ้นแน่นอน
นายพิชัย สายชล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโต้พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่กล่าวมา นอกจากที่บริษัทฯ จะเพิ่มเครื่องจักรและหุ่นยนต์มากขึ้น โดยปัจจุบัน มีหุ่นยนต์ถึง 838 ตัว เทคโนโลยีที่ใช้ในส่วนของเครื่องจักรนั้นเป็นระบบ Semi Auto เป็นส่วนใหญ่ หัวใจหลัก คือ การบำรุงรักษาเครื่องจักรเหล่านี้ บริษัทฯ จึงได้เตรียมความพร้อมในเรื่อง การพัฒนากำลังคนใน 5 ปีข้างหน้าไว้แล้ว โดยในปี 2016 บริษัทฯ มีจำนวนพนักงาน 1,000 คน เป็นช่างบำรุงรักษาเพียง 28 คน ปี 2017 จะลดพนักงานเหลือ 900 คน ปี 2018 เหลือ 884 คน ปี 2019 เหลือ 867 คน และ 2020 เหลือ 851 คน
" จากปรากฏการณ์ 4 เทรนด์ ของอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ เพื่อที่บริษัทฯ จะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศไทยไว้ได้นั้น บริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มจำนวนการใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์มาทดแทนคนในกระบวนการผลิต นั่นหมายความว่า คนที่เหลืออยู่จะต้องมีประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญในระดับสูงในการบำรุงรักษา ปรับแต่งซ่อมแซม อย่างมืออาชีพ การสนับสนุนให้พนักงานเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง " นายพิชัยกล่าว