กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--บ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,053 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 12 - 14 กันยายน 2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 99% และความผิดพลาดไม่เกิน 4% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,406 กลุ่ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่าผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร เปิดรับลงทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ เป็นการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยรถจักรยานยนต์ที่นำมาใช้จะต้องจดทะเบียนถูกต้อง (ป้ายเหลือง) ผู้ขับรถ เสื้อวิน บัตรประจำตัว และรถจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปล่อยให้เช่าเสื้อวิน ทั้งนี้ หากพบการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 3 ปี จุดที่น่าสนใจคือการที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่สามารถจอดรับผู้โดยสารได้เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ของตนเองทำให้เกิดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างประชาชนในกรุงเทพมหานครนั้นมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการให้บริการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่ามีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยภาครัฐ โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องเป็นป้ายทะเบียนสีเหลือง เสื้อวิน และมีบัตรประจำตัวตรงกับผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 58.0 แต่มีการใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีป้ายทะเบียนสีดำร้อยละ 35.0 และไม่แน่ใจร้อยละ 36.9 สะท้อนว่าผู้ใช้บริการรับรู้เกี่ยวกับการจัดระเบียบของภาครัฐแต่ยังใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างป้ายทะเบียนสีดำ
และอยากให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีการปรับปรุงในเรื่องการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราเป็นอันดับแรก ร้อยละ 35.2 อันดับที่สอง คือการขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร ร้อยละ 32.1 อันดับที่สามคือไม่จอดรับ/ปฏิเสธผู้โดยสาร ร้อยละ 28.9 อันดับที่สี่คือ สภาพรถจักรยานยนต์/หมวกกันน็อก ร้อยละ 25.1 และอันดับที่ห้าคือ มารยาทของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 23.8
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.8 เคยเรียกใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) โดยอันดับหนึ่งคือ แกร็บไบค์ (GrabBike) ร้อยละ 60.7 อันดับสอง คือ โกไบค์ (Go Bike) ร้อยละ 20 อันดับที่สาม คือ บานาน่าไบค์ (Banana Bike) ร้อยละ 17.1 และอันดับที่สี่ คือ อูเบอร์โมโต (Ubermoto) ร้อยละ 13.6
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 57.2 ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมแอพพลิเคชั่นในการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยร้อยละ 52.7 คิดว่าการใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้ทราบราคาค่าโดยสารที่แน่นอน ทำให้รู้สึกมั่นใจและปลอดภัย ร้อยละ 52.4 และ เพื่อความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินไปขึ้นที่วิน ไม่ต้องรอ/หามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 49.7 กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.2 ต้องการให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่น