กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศของ 7 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน (ชป.) กรมพัฒนาที่ดิน(พด.) กรมวิชาการเกษตร (วก.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมการข้าว (กข.) และ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)หรือ GISTDA ณ ห้องประชุม 115กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเกษตรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน การบริหารจัดการด้านการเกษตรของประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่ยังไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการเพาะปลูกและการผลิตยังคงมีต้นทุนสูงทำให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ลดลง ขาดประสิทธิภาพในการวางแผนและดำเนินงาน รวมถึงความตระหนักในการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด ดังนั้น หากกระบวนการด้านการเกษตรถูกพัฒนาให้เกิดศักยภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศและท้องถิ่นแล้วจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจะถูกพัฒนาอย่างเหมาะสมตามกลไกของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทยุคดิจิตอลในปัจจุบัน เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการด้านการเกษตร โดยการประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ วางแผน วิเคราะห์ ตลอดจนแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน อีกทั้งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี"ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีหลักการสำคัญ คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming นั่นเอง
"ในปี 2559 กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำ MOU ร่วมกับ GISTDA เพื่อพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ทราบถึงพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตการเก็บเกี่ยวข้าว ทำให้มีข้อมูลใช้ประกอบในการตัดสินใจวางแผนการผลิตให้เกษตรกรในรอบต่อไป สำหรับการทำ MOU ในครั้งนี้ มีกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่การวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถนำไปใช้ในการวางแผนรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยทำให้ทราบถึงข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม หรือพื้นที่ภัยแล้ง ทำให้ทราบถึงสถานการณ์ และนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว
ด้าน รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ อาทิ การติดตามพื้นที่เพาะปลูกพืช การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง หรือภัยพิบัติน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้แล้ว ยังร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานและจัดทำ Application ด้านการบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยการลงนามครั้งนี้ ถือเป็นการลงนามครั้งที่ 2 ซึ่งเดิมได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการร่วมกันพัฒนาข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยจากภาพถ่ายดาวเทียม ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ชป. กสก.สศก. กข. และ สทอภ. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง สทอภ. และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับใหม่โดยให้มีเนื้อหาการดำเนินงานและความร่วมมือที่กว้างขึ้นจากฉบับเดิม และให้เพิ่มหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ พด. และ วก. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการร่วมกันนำเสนอข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นข้อมูลเดียวกัน
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินงานตามกรอบบันทึกความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการเกษตรเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรของ 7 หน่วยงานตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายในการดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกด้วย