กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--
TREZ Jewelry (เทรซ จิวเวลรี่) ร้านอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำ จับมือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงาน "Sparkling Life & Colorful Gemstones" (สปาร์คกลิ้ง ไลฟ์ แอนด์ คัลเลอร์ฟูล เจมสโตนส์) เชิญลูกค้าซูเปอร์วีไอพีและสมาชิกบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด สยามพารากอน ร่วมสัมผัสประสบการณ์ความสุข สุดพิเศษ กับอัญมณีและเพชรน้ำงาม หลากชนิด พร้อมจัดเอ็กซ์คลูซีฟเวิร์กช็อป เผยเคล็ดลับการเลือกสำหรับผู้หลงใหลเสน่ห์อัญมณี และนักสะสม เพื่อเพิ่มมูลค่า
ภายในงาน จัดขึ้น ณ ร้าน TREZ Jewelry ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น โดยได้รับเกียรติจาก เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการร้าน TREZ Jewelry และ สรัลธร อัศเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่งเสริมการตลาด บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมด้วยเหล่าเซเลบริตี้ ผู้หลงใหลอัญมณี อาทิ นพ.พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ, พญ.ช้องมาศ เลิศสิน, สุกัญญา กนกอรร, มาร์ค ธาวิน พี เซียวตง และ วิลาวัณย์ อติชาติ ตลอดจนลูกค้าวีไอพี สวมอัญมณีชิ้นโปรดส่องประกายงดงาม ร่วมงาน
เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ เผยว่า "TREZ Jewelry จับมือกับ ฝ่ายกิจกรรมสมาชิกแพลตินั่ม เอ็ม การ์ด (Platinum M Card) ศูนย์การค้าสยามพารากอน จัดงานครั้งนี้ขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ความสุข สุดพิเศษ โดยเชิญลูกค้าวีไอพีและสมาชิกบัตรแพลตตินั่ม เอ็ม การ์ด สยามพารากอน ที่หลงใหลในอัญมณีทั้งเพื่อการสะสม และเพื่อการลงทุน มาร่วมสัมผัสจิวเวลรี่และอัญมณีน้ำงามชนิดต่างๆ พร้อมจัดเวิร์กช็อปแนะนำเทคนิค และหลักการการเลือกพลอยที่จะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต ซึ่งต้องพิจารณาองค์ประกอบด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งกำเนิด การปรับปรุงคุณภาพในพลอย และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น สี ลวดลาย หรือตำหนิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัส และตื่นตากับการส่องกล้องพิจารณาในความงดงามของอัญมณีและประกายเพชรน้ำงาม ที่หาได้ยากอีกด้วย"
ไฮไลต์ของงานจัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้มีเกียรติร่วมเวิร์กช็อปแนะนำการพิจาณาเลือกอัญมณี โดยช่วงเวลาพิเศษนี้ เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ ที่ไม่เพียงจะเป็นบิ๊กบอส TREZ Jewelry เท่านั้น แต่ยังสวมหมวกอีกใบในฐานะนักอัญมณีศาสตร์ (Gemologist) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีศาสตร์ โดยนำตัวอย่างจิวเวลรี่ และอัญมณีที่หาชมได้ยาก มาอวดโฉมให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสด้วยมือ พร้อมลองส่องดูความงามด้วยตา ทั้งยังเผยเทรนด์ของพลอยที่ควรสะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามอย่างเป็นกันเอง
บิ๊กบอส TREZ Jewelry กล่าวด้วยว่า ในการเลือกซื้อจิวเวลรี่สักชิ้น ควรทราบว่า ไม่ใช่ว่าจิวเวอรี่ทุกชิ้นเมื่อซื้อแล้วมูลค่าจะเพิ่มเสมอไป ฉะนั้น เราต้องมีหลักในการเลือกซื้อ ว่าชิ้นไหนที่เราซื้อไปแล้วมูลค่าจะไม่ตก หรือมีแนวโน้มจะเพิ่มมูลค่าต่อไปในอนาคต สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกจิวเวลรี่ ก่อนตัดสินใจซื้อมาครอบครอง ขอให้พิจารณา ดังนี้
1. Origin (แหล่งกำเนิด): แหล่งกำเนิดของอัญมณีแต่ละเม็ดนั้นถือเป็นปัจจัยต้นๆที่ใช้ในการพิจารณาคุณค่าของอัญมณีเม็ดนั้นๆ เพราะไม่เพียงแต่จะบอกเล่าเรื่องราวของแหล่งที่มาที่น่าสนใจแล้ว แหล่งการผลิตอัญมณีแต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งก่อให้เกิดลักษณะอันโดดเด่นของอัญมณีเม็ดนั้นๆอีกด้วย เช่น แทนซาไนต์ พลอยสีน้ำเงินแกมม่วงที่มีเสน่ห์ ล้ำลึก และหายากชนิดหนึ่งนี้ มีแหล่งกำเนิดเฉพาะที่ประเทศแทนซาเนียเท่านั้น ประกายสดใหม่ที่น่าหลงใหลนี้จึงทำให้แทนซาไนต์ที่มาจากแทนซาเนียเป็นที่ต้องการของผู้มีรสนิยมและมีราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. Gems Treatment: พลอยที่สวยจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่หายาก และราคาสูงมาก ปัจจุบันพลอยมีค่าหลายชนิด ได้ผ่านกรรมวิธีปรับปรุงคุณภาพเป็นที่ยอมรับในทางสากล เช่น การเผาพลอย (แบบเก่า) เพื่อให้สีสวยขึ้นและความสะอาดในพลอยดูดีขึ้น เป็นการสวยอย่างถาวรและราคาสามารถจับจ่ายได้ ภายในงานจึงได้มีการนำเทคนิคการสังเกตุพลอยที่มีการปรับปรุงคุณภาพที่ทำให้พลอยสวยแต่เป็นการชั่วคราวที่มีหลงเข้ามาในท้องตลาดมาให้ผู้ร่วมงานได้ทราบอีกด้วย
3. Phenomenon (ปรากฎการณ์ธรรมชาติ): ลักษณะพิเศษหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอัญมณี ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากตำหนิในอัญมณี โครงสร้างทางกายภาพ หรือแม้กระทั่งการดูดกลืนแสงของอัญมณีแต่ละชนิด ซึ่งปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้มีได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Chatoyancy (Cat's eye) แสงสะท้อนที่เกิดจากตำหนิเส้นเข็มในหนึ่งระนาบ มักพบในพลอยคริสโซเบอริลตาแมวหรือทัวมาลีนตาแมว การเล่นสีของอัญมณีที่เมื่อแสงส่องผ่านและกระทบกับธาตุซิลิกอนจะเกิดเป็นลักษณะหย่อมสีหลายๆสี เป็นต้น
4. 4C: มาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกนี้ยังคงเป็นใจความสำคัญที่ไม่ควรลืมเสมอสำหรับการเลือกอัญมณี โดยสามารถจำแนกออกเป็น
- Color (สี) อัญมณีแต่ละชนิดมีสีสันและลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น การพิจารณาในแง่ของสีนั้นนอกจากจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติตามธรรมชาติของอัญมณีชนิดนั้นๆแล้ว รสนิยมส่วนบุคคล รวมถึงความนิยมของอัญมณีนั้นๆในแต่ละช่วงเวลาล้วนส่งผลต่อคุณค่าในอนาคตอีกด้วย
- Clarity (ความใส) รอยตำหนิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจเป็นตัวชี้วัดมูลค่าของอัญมณีเม็ดนั้นๆซึ่งกลายมาเป็นหลักที่สำคัญในการประเมินเพชรพลอย เนื่องจากอัญมณีแท้ตามธรรมชาติไม่มีอัญมณีใดที่มีความสมบูรณ์ปราศจากมลทินและตำหนิ Clarity จึงใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจากความชัดเจน ความมากน้อยของตำหนิภายนอก เช่น รอยขีดข่วน รอยบิ่น เป็นต้น หรือมลทินที่อยู่ภายในซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นจะต้องใช้กล้องที่มีกำลังขยายสูงเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา
- Cutting (การเจียระไน) สัดส่วนของเพชรซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความงามของเพชรและอัญมณีอื่นๆมีองค์ประกอบสำคัญ คือ ความลึก (depth) ความกว้าง (width) รูปทรงของหน้าเจียระไน (facet) และความสมมาตร (symmetry) การเจียระไนโดนช่างที่มีฝีมือ
นอกจากจะมีผลต่อน้ำหนักที่พยายามรักษาไว้และความสวยงามของเพชรแล้ว ยังส่งผลถึงประกายแวววาวที่ทำให้จิวเวลรี่และผู้สวมใส่นั้นเจิดจรัสอย่างแท้จริง
- Carat (กะรัต) น้ำหนักมาตรฐานที่ใช้ในการซื้อขายอัญมณี โดย 1 กะรัตมีน้ำหนักเท่ากับ 200 มิลลิกรัม อัญมณีที่มีกะรัตยิ่งสูงซึ่งมักหาพบได้ยากจึงมีมูลค่าที่สูงตามค่ากะรัตนั่นเอง
ภายหลังเวิร์กช็อปเสร็จสิ้นลง ได้เปิดโอกาสให้บรรดาแขกซูเปอร์วีไอพี ได้ชมและเลือกซื้ออัญมณีชิ้นโปรดตามอัธยาศัย กระทั่งงานจบลงด้วยความประทับใจ