กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
ตามที่สำนักงานก.ล.ต. ร่วมกับ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงบทบาทและขอบเขตหน้าที่การทำงานของเจ้าหน้าที่การตลาดตราสารหนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 ณ สำนักงาน กลต.นั้น ศูนย์ซื้อขายฯได้จัดทำสรุปการประชุมและประเด็นคำถามคำตอบซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงาน กลต.แล้ว จึงขอนำส่งมายังท่านโดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
อนึ่ง ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. และ สถาบันพัฒนาบุคลากรฯ (TSI) ได้เห็นชอบในหลักการที่จะ Accredit ให้ผู้ค้าตราสารหนี้ซึ่งขึ้นทะเบียนกับศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย ( Thai BDC Registered Bond Trader) สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดกับสำนักงาน ก.ล.ต. ได้โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องผ่านการทดสอบจาก TSI นั้น ศูนย์ซื้อขายฯอยู่ในระหว่างการประสานงานกับ TSI เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับขั้นตอนการ Accredit ดังกล่าว โดยทาง TSI อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศรับรองการ Accredit ดังกล่าว ซึ่งศูนย์ซื้อขายฯจะได้แจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการให้ทราบต่อไป
ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
สรุปการประชุมหารือเกี่ยวกับบทบาทและขอบเขตการทำงานของเจ้าหน้าที่การตลาด
วันที่ 6 กันยายน 2544 เวลา 10:00-12:30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.
สรุปคำถามและคำตอบ
1. บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่การตลาดเมื่อไร
- ตามประเภทใบอนุญาตของบริษัทหลักทรัพย์
ได้แก่ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนแก่ลูกค้า
- เมื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทใด
สำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ที่มิใช่พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ธปท. ทั้งการซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรอง
- เมื่อซื้อขายกับใคร
กับลูกค้า ซึ่งหมายถึง บุคคลหรือบริษัทที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทค้าหลักทรัพย์และไม่ใช่ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปเมื่อซื้อขายกับ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สถาบันการเงินที่ไม่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และลูกค้ารายย่อยทั่วไป เป็นต้น
- มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนที่สำนักงาน กลต. เท่าไร
1,000 บาทต่อคนโดยในปัจจุบันมีอายุการขึ้นทะเบียน 2 ปี
- บุคคลคนเดียวสามารถขึ้นทะเบียนเป็นทั้งผู้ค้าตราสารหนี้และเจ้าหน้าที่การตลาดได้หรือไม่ได้ แต่ต้องไม่ปฏิบัติงานทั้งสองอย่างหรือในสองหน่วยงานในเวลาเดียวกัน
2. วิธีการและรายละเอียดของการปฏิบัติงานของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ค้าตราสารหนี้
- ในกรณีที่เป็นการจำหน่ายหุ้นกู้เป็นการทั่วไป เช่น การขายแบบ PP และสาขาธนาคารทำหน้าที่รับจองเท่านั้น ธนาคารจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อรับจองหุ้นกู้นั้นหรือไม่
ในการรับจองซื้อหุ้น ถ้ามีการขายและ close deal ธนาคารต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่การตลาดเพื่อรับจองซื้อหุ้น แต่ถ้าหากการรับจองซื้อเป็นเพียงแค่ messenger คือ เป็นแค่ทางผ่านไปมี close deal ที่อื่น กรณีนี้ถือว่าไม่ใช่เป็นการขาย จึงไม่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด สำหรับกรณีที่การจองซื้อเป็นการ close deal ต้องมีเจ้าหน้าที่การตลาด แม้ว่าจะไม่ได้มีการให้คำแนะนำก็ตาม แต่ยังคงต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและลักษณะของหลักทรัพย์ให้ลูกค้าทราบ และในกรณีที่มีการให้คำแนะนำ เจ้าหน้าที่การตลาดมีหน้าที่ต้องทำ suitability ของลูกค้าด้วย ในทางปฏิบัติ ธนาคารควรจะพิจารณากระบวนการและวิธีการทำงานให้มีความชัดเจนหรือมีเอกสารยืนยันเกี่ยวกับการให้หรือไม่ให้คำแนะนำ ดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารได้มีการควบคุมเจ้าหน้าที่การตลาดมิให้ทำหน้าที่ชักชวนหรือให้คำแนะนำลูกค้า ซึ่งจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคต
- กรณีใด ที่การขายตราสารหนี้แก่ลูกค้าจะต้องทำ suitability (คือ การรวบรวมข้อมูลของลูกค้าเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การลงทุน สถานภาพทางการเงิน และความต้องการของลูกค้า)
จากการประชุม ผู้แทน กลต. ได้ชี้แจงว่า ถ้าเป็นการให้ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวไม่จำเป็นต้องทำ suitability แต่หากมีการให้คำแนะนำชักชวนไม่ว่าการซื้อขายในตลาดแรกและตลาดรองก็จะต้องทำ Suitability ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ๆ โดยในประเด็นของความสำคัญของการทำ suitability ต่อการทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำชักชวนนั้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่วิธีการทำงานต่าง ๆ นั้นอาจมีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงเพื่อที่จะให้การทำงานมีมาตรฐานที่ไม่แตกต่างกันมากและสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ในกระบวนการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งแรก ควรจะต้องมีการจัดทำเอกสารเพื่อประเมินสถานภาพและความต้องการของลูกค้า (suitability) โดย Thai BDC จะขอความร่วมมือจาก dealer เพื่อจัดทำแบบฟอร์มการแจ้งถึงระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้และแบบประเมิน suitability แล้วขอความร่วมมือจากกลุ่ม Investment Banker เพื่อที่จะแนบแบบฟอร์มดังกล่าวไปกับใบจองซื้อหุ้นเพื่อที่จะให้ลูกค้าผู้จองซื้ออ่านและเซ็นต์รับทราบก่อนที่จะจองซื้อหุ้น
- บริษัทหลักทรัพย์มีผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน ( Thai BDC Registered Trader) แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาดเนื่องจากโดยปกติไม่ได้ติดต่อทำธุรกิจกับลูกค้า หากมีการทำธุรกรรมต่อไปนี้จะสามารถทำได้หรือไม่
- ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ลูกค้าในตลาดแรก
ไม่ได้ เนื่องจากบริษัทไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาด
- ลูกค้า walk in มาซื้อหุ้นกู้ บริษัทจะสามารถขายให้ได้หรือไม่
ไม่ได้ เนื่องจากบริษัทไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาด
- บริษัทหลักทรัพย์มีผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน ( Thai BDC Registered Trader) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดด้วยในคนเดียวกัน และโดยปกติบริษัทมีธุรกรรมด้านตราสารหนี้น้อยมาก และไม่มีหน่วยงานด้านการขายเนื่องจากการประกอบธุรกิจไม่ได้ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แต่หากนานๆครั้งอาจมีการซื้อขายในตลาดแรกหรือตลาดรองกับลูกค้า จะสามารถทำได้หรือไม่
โดยหลักการแล้วตามข้อกำหนดของ กลต. บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ตัดสินใจซื้อขายกับ หน่วยงานและบุคลากรที่ติดต่อ ชักชวนหรือให้คำแนะนำแก่ลูกค้าออกจากกัน หรือในทางปฏิบัติอย่างน้อยต้องมีความชัดเจนว่า ณ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ค้าหรือเจ้าหน้าที่การตลาด โดยต้องไม่ทำทั้งสองหน้าที่ในเวลาเดียวกัน
3. หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ค้าตราสารหนี้กับเจ้าหน้าที่การตลาดตราสารหนี้มีขอบเขตการทำงานแตกต่างกันอย่างไร
- ผู้ค้าตราสารหนี้เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจซื้อขายเพื่อบริษัท ส่วนเจ้าหน้าที่การตลาดคือบุคคลที่ติดต่อกับลูกค้าโดยแนะนำชักชวนลูกค้าให้ซื้อขาย
- ตามข้อกำหนดของ กลต. ผู้ค้าตราสารหนี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับ Thai BDC ส่วนเจ้าหน้าที่การตลาดจะต้องผ่านการทดสอบจากสถาบันฝึกอบรม (TSI) และขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน กลต.
4. ผู้ค้าตราสารหนี้ (trader) ที่ขึ้นทะเบียนกับ Thai BDC แล้วสามารถจะได้รับ Accredit ในการขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดด้วยหรือไม่ และการ Accredit จะมีกำหนดช่วงเวลาหมดอายุหรือไม่
สำนักงาน กลต. TSI และ TBDC ได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการที่จะให้มีการ Accredit แก่ผู้ค้าตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับ Thai BDC โดยถือว่าผ่านการทดสอบจาก TSI ซึ่ง TSI จะจัดทำประกาศรับรองการ Accredit ดังกล่าว และผู้ค้าตราสารหนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการไปยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ กลต. โดยการ Accredit ดังกล่าวจะเป็นการให้ตลอดไป
ประเด็นที่จะนำไปหารือและดำเนินงานต่อไป
1. ให้ Thai BDC ประสานงานกับสถาบันผู้ค้าตราสารหนี้ว่าต้องการให้มีการทบทวนการจัดประเภท (reclassify) ของลูกค้าตามประกาศคณะกรรมการ กลต. ที่ กธ. 43/2543 หรือไม่ เนื่องจากลักษณะการติดต่อระหว่างสถาบันผู้ค้าตราสารหนี้กับลูกค้าที่เป็น wholesale/institution มีความแตกต่างกับลูกค้าที่เป็น retail เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์ให้มีความแตกต่างกันระหว่างลูกค้าสถาบันกับรายย่อย โดยสำนักงานกลต.จะรับมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. ตามประกาศ กลต. ที่กำหนดให้ต้องทราบถึงสถานภาพทางการเงินของลูกค้า หรือการทำ suitability นั้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อการขายตราสารหนี้ในตลาดแรก จึงได้หารือให้มีการจัดทำเอกสารมาตรฐานที่อธิบายความเสี่ยงและความเหมาะสมต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง
ที่ประชุมจึงเห็นควรให้เอกสารที่จะจัดทำนี้เป็นการทำร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นเอกสารแนบกับใบจองซื้อตราสารหนี้นั้น ๆ ทั้งนี้ ในเรื่องของการทำ suitability ของลูกค้าแต่ละรายที่สถาบันการเงินนั้น เป็นสื่งที่ธนาคารหลายแห่งอาจดำเนินการอยู่แล้วเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่อาจมีการจัดทำเอกสารที่มีสาระสำคัญขั้นต่ำที่ควรจะมีสำหรับเป็นมาตรฐานของตลาดตราสารหนี้--จบ--
-อน-