กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ของบริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (“อิออน”) ระยะยาวที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มเป็นลบ และระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’
อันดับเครดิตของอิออนสะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งของบริษัทในการให้บริการลูกค้าเฉพาะกลุ่ม การเติบโตของผลกำไรและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งในธุรกิจเงินกู้รายย่อยในประเทศไทย เงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และการสนับสนุนจากบริษัทแม่ แต่อันดับเครดิตยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลในคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจถดถอยลงเนื่องจากกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงและเนื่องจากความผันผวนของสินเชื่อผู้บริโภคในกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำ
ในวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ฟิทช์ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอิออนเป็นลบ จากเดิมมีเสถียรภาพ เนื่องมาจากสภาวการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระของอิออนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและสัดส่วนจำนวนเงินรับชำระรายเดือนเมื่อเทียบกับยอดคงค้างของบัตรเครดิต (monthly payment rate) ที่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฟิทช์กล่าวว่าแม้หนี้ที่ค้างชำระของอิออนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในปีประกอบการที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในแง่ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำของอิออน เมื่อพิจารณาถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และภาระหนี้สินของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ฟิทช์ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่ค้างชำระในอนาคตอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของอิออนในอนาคต นอกจากนี้ การออกมาตรการควบคุมธุรกิจโดยภาครัฐที่เข้มงวดขึ้นและต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อย่างไรก็ตาม การบริหารการจัดการที่เข้มงวด โดยเฉพาะทางด้านการปล่อยสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นลงได้
สินเชื่อของอิออนได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 4 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการเติบโตที่สูงของธุรกิจหลักคือ ธุรกิจเช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล หากบวกกลับสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ สินเชื่อลูกหนี้เพิ่มขึ้น 39% ในปี 2547 (ปีประกอบการสิ้นสุดกุมภาพันธ์ 2548) และเพิ่มขึ้นอีก 20% เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อลูกหนี้ ณ สิ้นสุดปีประกอบการกุมภาพันธ์ 2548 ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2548 (สิ้นสุดสิงหาคม 2548) แม้ว่ายอดการใช้สินเชื่อทั้งปีมีระดับสูงกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น ในปีประกอบการ 2547 ยอดการใช้สินเชื่อที่เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าสูงถึง 39.5 พันล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อลูกหนี้ ณ สิ้นปีประกอบการ ที่มีมูลค่าเพียงแค่ 16 พันล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2547 และงวดครึ่งปีแรกของปี 2548 เนื่องมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม การที่เพดานอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถูกจำกัดไว้ที่ 18% และ 28% ตามลำดับ ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร
หนี้ที่ค้างชำระรวมหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญ อยู่ที่ระดับ 9% ของยอดเฉลี่ยของสินเชื่อลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2548 ในขณะที่ระดับหนี้ที่ค้างชำระยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีประกอบการก่อนหน้านี้ แนวโน้มโดยรวมของระดับหนี้ที่ค้างชำระเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของจำนวนเงินรับชำระรายเดือนเมื่อเทียบกับยอดคงค้างได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2544 ฟิทช์กล่าวว่าเมื่อพิจารณาถึงอัตราการจ่ายคืนหนี้ที่สูงและระยะการผ่อนชำระหนี้ที่สั้นของสินเชื่อประเภทนี้ หนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญสะสมอาจส่งผลให้การประเมินระดับหนี้ที่ค้างชำระของอิออนสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น หนี้ที่ค้างชำระมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลด้วยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม การเพิ่มขึ้นของการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น รถจักรยานยนต์ ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพของสินทรัพย์ในระยะปานกลางด้วย
อิออนได้ทำการแปลงสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลักทรัพย์จำนวน 2 พันล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และได้ทำการแปลงสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลักทรัพย์จำนวน 3 พันล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ผลกระทบโดยทั่วไปจากโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพของสินทรัพย์ค่อนข้างเป็นกลาง และน่าจะส่งผลบวกต่อสภาพคล่องและเงินกองทุนของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อิออนมีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างไม่อิงกับสินเชื่อที่ถูกแปลงเป็นหลักทรัพย์ บริษัทยังคงมีความเสี่ยงในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและจำนวนเงินส่วนร่วมในนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ให้แก่โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ จำนวน 1.9 พันล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้นของอิออน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2548 อยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท อิออนมีเงินกองทุนต่อสินเชื่อในระดับ 15% ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2548 ในขณะที่ความสามารถในการจัดสรรผลกำไรไปยังเงินกองทุนของอิออนยังอยู่ในระดับสูง อัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนในอนาคตได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963--จบ--