กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 54.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 58.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 729 แท่น ลดลงมากสุดในรอบกว่าปี
- OPEC/กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกแสดงความตื่นตัวในการขยายเวลาข้อตกลงการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 61 เป็นสิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 61 และจะพยามยามบรรลุข้อตกลงให้ได้ก่อนการประชุม OPEC ในวันที่ 30 พ.ย. 60 ทั้งนี้มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย Mohammed bin Salman ให้การสนับสนุนข้อตกลงการขยายเวลาควบคุมปริมาณการผลิตข้างต้น
- Reuters Survey รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน ต.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 32.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นระดับความร่วมมือลดปริมาณการผลิต (Compliance Rate) ที่ 92% สูงกว่าเดือน ก.ย. 60 ที่ 86 % เพราะเวเนซุเอลาประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการผลิตขาดเสถียรภาพ ผนวกกับซาอุดีอาระเบียยังเคร่งครัดในการผลิตอย่างต่อเนื่อง
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ต.ค. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 454.9 ล้านบาร์เรล ลดลงมากกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg ที่คาดว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 63,072 สัญญา มาอยู่ที่ 343,705 สัญญา สูงสุดในรอบกว่าครึ่งปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังแหล่งผลิตบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคปิดซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ความร่วมมือที่ตกลงไว้กลุ่ม OPEC ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงน้ำมันอิรักรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากทางใต้ ในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัฐมนตรีพลังงานของอิรัก นาย Jabar al-Luaibi แถลงว่าอิรักเพิ่มปริมาณส่งออกน้ำมันจากทางตอนใต้ เพื่อชดเชยปริมาณการส่งออกที่ลดลงจากแหล่งผลิตน้ำมัน Kirkuk ทางตอนเหนือ
- PEMEX บริษัทน้ำมันแห่งชาติเม็กซิโกรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของเม็กซิโกเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 180,000 บาร์เรลต่อวันอยู่ที่ระดับ 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 13 เดือน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เช้าวันนี้ (6 พ.ย. 60) ทะยานขึ้นแตะ 62.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ ก.ค. 60 ทำให้ราคา ICE Brent ยืนเหนือระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ติดต่อกันเป็นวันที่ 7 หลังตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและรัสเซียส่งสัญญาณขยายเวลาข้อตกลงควบคุมการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องจากเดิมที่จะหมดเขต มี.ค. 61 ด้านบรรยากาศการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Options) ในตลาด NYMEX คึกคัก เห็นได้จากสถานะถือครองสุทธิของสัญญาน้ำมันดิบ WTI แตะระดับสูงสุดในรอบกว่าครึ่งปี ส่วนของสัญญา RBOB Gasoline สูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง และของสัญญา Ultra Low Sulfur Diesel (ULSD) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลตอบแทนการกลั่น (Refining Margin) ในสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ตลาดน้ำมัน Physical อยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาประกาศ (Official Selling Price) น้ำมันดิบ ทั้งบริษัท Saudi Aramco ของซาอุดิอาระเบีย บริษัท Abu Dhabi National Oil (ADNOC) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบริษัท Qatar Petroleum ของกาตาร์ ให้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในตะวันออกกลางหลังกองทัพซาอุดีอาระเบียได้รับคำสั่งให้ปิดล้อมเส้นทางคมนาคมสู่เยเมนทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ เพื่อตอบโต้กลุ่ม Houthi ที่ยิงขีปนาวุธจากเยเมน โจมตีสนามบิน นานาชาติ King Khalid ในซาอุดีอาระเบียแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้มกุฎราชกุมาร Salman ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการปราบคอร์รัปชันสั่งจับกุมเจ้าชายแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียอย่างน้อย 11 พระองค์และรัฐมนตรี จำนวน 4 คน เพื่อกวาดล้างการคอร์รัปชัน ขณะที่นักวิเคราะห์เห็นว่าเป็นกลยุทธ์ในการกระชับอำนาจปกครองประเทศ ด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 53.0-56.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.0-61.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีน (Apparent Demand: ไม่รวมเก็บสำรอง) เดือน ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.9% อยู่ที่ 3.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 16 เดือน จากการใช้พาหนะเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุด Golden Week และเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) ประกอบกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea National Oil Corp. หรือ KNOC) รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในประเทศ เดือน ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1 % อยู่ที่ 230,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง Platt รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียตึงตัว เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันลดลง และความต้องการใช้จากตะวันออกกลางแข็งแกร่ง ทั้งนี้ตลาดน้ำมันเบนซินอาจตึงตัวไปถึงไตรมาส 1/61 เนื่องจากผู้ค้ายังไม่ได้ Restocking ที่ปกติดำเนินการในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ทุกปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปาถีสถานปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.49 รูปีต่อลิตร (ประมาณ 0.78 บาทต่อลิตร) อยู่ที่ 75.99 รูปีต่อลิตร หรือประมาณ 23.86 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 60 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.58 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.56 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Korea National Oil Corporation (KNOC) รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในเกาหลีใต้ เดือน ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5 % อยู่ที่ 494,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับสำนักข่าว Xinhua ของจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลในเดือน ก.ย. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 5.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.2 ล้านบาร์เรล และ National Development & Reform Commission ของจีนประกาศให้ผู้จำหน่ายน้ำมันในประเทศ หยุดขายน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันมากกว่า 10 ppm (ส่วนมากใช้กับรถแทร็กเตอร์ และเรือ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 60 เพื่อลดมลพิษในอากาศ อย่างไรก็ตาม Bharat Petroleum Corp. Ltd (BPCL) ของอินเดีย อยู่ระหว่างการเร่งอัตราการกลั่นของโรงกลั่น Kochi ทางตอนใต้ของอินเดีย หลังขยายกำลังการกลั่นจากเดิม 190,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 260,000 บาร์เรลต่อวัน แล้วเสร็จ และมีแผนเพิ่มขึ้นแตะ 310,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา กอปรกับ Reuters รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ (ULSD) จากท่าเรือ Primorsk บริเวณทะเลดำ เดือน พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.6 % อยู่ที่ 220,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 510,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-73.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล