กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--เคพีเอ็มจี
เกือบ 3 ใน 4 (72%) ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ไม่ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงินในรายงานทางการเงินประจำปีของบริษัท อ้างอิงจากผลสำรวจ KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting 2017
น้อยกว่า 1 ใน 20 (4%) จากจำนวนบริษัทที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีการรายงานต่อนักลงทุนเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือมีผลกระทบต่อมูลค่าธุรกิจ
การสำรวจของเคพีเอ็มจีในครั้งนี้เป็นการศึกษารายงานทางการเงินและรายงานความยั่งยืนประจำปีของ 100 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดใน 49 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 4,900 บริษัททั่วโลก
จากการสำรวจพบว่า มีเพียง 5 ประเทศ ที่จำนวนส่วนใหญ่ของบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง ระบุถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในรายงานทางการเงินของบริษัท ซึ่งได้แก่ ไต้หวัน (88%) ฝรั่งเศส (76%) แอฟริกาใต้ (61%) สหรัฐอเมริกา (53%) และแคนาดา (52%) ในกรณีส่วนใหญ่ การเปิดเผยข้อมูลด้านความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หรือมีการสนับสนุนจากรัฐบาล ตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการทางการเงินในประเทศเหล่านี้
จากการศึกษาข้อมูลตามกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทในหมวดธุรกิจป่าไม้และกระดาษ (44%) เคมีภัณฑ์ (43%) เหมืองแร่ (40%) และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (39%) มีการรับรู้สูงสุดในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ตามมาด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ (38%) และสาธารณูปโภค (38%) ขณะที่ ธุรกิจการดูแลสุขภาพ(14%) การขนส่งและสันทนาการ (20%) รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก (23%) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด
บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250) มีแนวโน้มการเปิดเผยต่อสาธารณะเกี่ยวกับความเสี่ยงทางปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับบริษัทโดยรวม ทั้งนี้บริษัทข้ามชาติในประเทศฝรั่งเศสตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากถึง 90% ตามด้วยบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศเยอรมัน (61%) และอังกฤษ (60%)
ประมาณ 2 ใน 3 ของบริษัทในกลุ่ม G250 ที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก (67%) น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (65%) ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ 1 ใน 3 (36%) ของบริษัทที่ให้บริการทางการเงินรับรู้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ดี จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า มีเพียง 6 บริษัทในกลุ่ม G250 ที่มีการรายงานผลกระทบทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยการพิจารณาผ่านการประเมินข้อมูลในเชิงปริมาณ (Quantification) หรือการทำแบบจำลองสถานการณ์ (Scenario Modelling)
โฮเซ่ หลุยส์ บลาสโค ประธาน ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เคพีเอ็มจี กล่าวว่า "การสำรวจในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า มีเพียงไม่กี่บริษัทในบรรดาบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่รายงานเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผลสำรวจในครั้งนี้ช่วยตอกย้ำความสำคัญในการริเริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Financial Stability Board's Task Force on Climate-related Financial Disclosures – TCFD) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว"
"ความกดดันของบริษัทที่จะต้องขยายขีดความสามารถในการเปิดเผยข้อมูลมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนบางกลุ่มมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจัง ในบางประเทศ มีการพิจารณาในการใช้กฎหมายเข้ามาช่วยควบคุม และในบางหน่วยงานกำกับดูแลกิจการทางการเงิน มีการตักเตือน ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถระบุ หรือจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของบริษัท ในบริบทดังกล่าว เราส่งเสริมให้หลายบริษัทเร่งปรับตัว เพราะบริษัทที่ไม่พิจารณาความเสี่ยงดังกล่าว จะสูญเสียความสนใจจากนักลงทุน และทำให้เงินต้นทุนและต้นทุนเงินประกันยิ่งบานปลายอย่างรวดเร็ว"
การสำรวจในครั้งนี้ยังรวมถึงการศึกษาแนวโน้มอื่นๆ ในการจัดทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) การรายงานด้านสิทธิมนุษยชน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ประเด็นสำคัญอื่นๆ จากผลสำรวจมีดังนี้
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งมีทั้งหมด 17 ประการ ในการยุติความยากจน ปกป้องดูแลโลก และเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชากร ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคธุรกิจทั่วโลกในช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ตั้งแต่การประกาศเป้าหมายดังกล่าว เมื่อปลายปี 2558มากกว่า 1 ใน 3 (39%) ของรายงานจำนวน 4,900 ฉบับ ที่ใช้ในการสำรวจในครั้งนี้ มีการเชื่อมโยงของกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 43% เมื่อพิจารณาจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250)
ราว 3 ใน 4 (73%) ของรายงานบริษัทที่ทำการสำรวจใน 49 ประเทศ จัดให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นความรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องให้ความสำคัญ และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในบริษัทในกลุ่ม G250 นอกจากนี้ บริษัทในประเทศอินเดีย สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนมากที่สุด เช่นเดียวกันกับบริษัทในอุตสาหกรรมเหมืองแร่
2 ใน 3 (67%) ของรายงานที่ทำการสำรวจทั้งหมดจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 250 แห่ง (G250) ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ดี รายงานส่วนใหญ่กว่า 69% มีเป้าหมายของบริษัทที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่กำหนดโดยรัฐบาล หรือหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง อาทิ สหภาพยุโรป หรือ สหประชาชาติ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย มากกว่าครึ่ง (67%) ของจำนวนบริษัทที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย 100 แห่ง มีการรายงานด้านความยั่งยืน และจากจำนวนบริษัทในกลุ่ม N100 ในประเทศไทย ที่มีการรายงานด้านความยั่งยืน พบว่า 48% ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงทางการเงิน 73% มีการตั้งเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 91% ตระหนักถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และมีการตั้งนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่มีเพียง 49% ของรายงานความยั่งยืนที่ได้การรับรองจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance)
"การจัดทำรายงานความยั่งยืนช่วยให้ธุรกิจสามารถระบุประเด็นที่มีสาระสำคัญ โอกาส และความเสี่ยง รวมทั้งการประเมินความสามารถขององค์กรทั้งหมดต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน นักลงทุนและผู้ถือหุ้นควรตระหนักว่า ข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน อาทิ ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มีความเกี่ยวโยงกับผลประกอบการทางการเงิน และศักยภาพของธุรกิจในการสร้างมูลค่าในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจในประเทศไทยจำเป็นจะต้องให้ความสนใจในด้านการรับรองจากหน่วยงานภายนอก (External Assurance) เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกไป" พอล ฟลิปส์ กรรมการบริหาร ฝ่ายความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าว
"ไม่ใช่แค่พนักงาน ชุมชนและองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่ให้ความสนใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและประเด็นเรื่องความยั่งยืน นักลงทุนเองยังให้ความสนใจมากขึ้นถึงประเด็นที่อยู่นอกเหนือผลประกอบการทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบสำคัญต่อความสามารถขององค์กรในการสร้างและปกป้องมูลค่าของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับแนวโน้มล่าสุดในการจัดทำรายงาน และมั่นใจว่า รายงานขององค์กรจะตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง" โฮเซ่ หลุยส์ บลาสโค กล่าวเสริม
ดาวน์โหลดผลสำรวจ KPMG Survey of Corporate Responsibility Reporting 2017 ฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/2yyBlN8