กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ททท.
หลักการและเหตุผล
การเล่นว่าวเป็นกีฬาที่นิยมกันทั่วโลก และมีวิวัฒนาการหลายศตวรรษทำให้การเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบ และวัสดุที่ใช้ทันสมัยขึ้น ปัจจุบันนี้ลักษณะของว่าวจะมีความสวยงามโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต จึงทำให้มีรูปร่างและโครงสร้างในลักษณะต่างๆ กันตลอดจนมีวิธีการเล่นหลายรูปแบบ สร้างความตื่นตาตื่นใจกับ ผู้ชมเป็นอย่างมาก ในต่างประเทศเชื่อกันว่ามีการทำว่าวขึ้นเมื่อ 400 ปี ก่อนคริสตกาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนาน และเพื่อประโยชน์บางอย่างซึ่งจากบันทึกทางวิชาการพบว่าวิศวกรชาวจีนชื่อ กุง ชู ฟาน เป็นผู้ประดิษฐ์นกไม้ชักขึ้นไปแล้วไม่ตกลงมาได้ถึง 3 วัน จึงถือได้ว่าเป็นว่าวตัวแรกโลก
สำหรับในประเทศไทยได้มีการเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นว่าวยังเป็นที่นิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงสามัญชนธรรมดา แต่มีกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดเล่นว่าวข้ามเหนือพระราชวัง ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องลงโทษตามกฎมณเฑียรบาล ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้กำเนิดว่าวจุฬา-ปักเป้าขึ้น และได้มีการจัดการแข่งขันกันขึ้นจนกระทั่งถึงสมัย รัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการทรงว่าวจุฬา ต่อสู้กับว่าวปักเป้าของพระอนุชา ชาวตะวันตกได้เปรียบว่าวจุฬาเป็นผู้ชาย และว่าวปักเป้าเป็น ผู้หญิง เหมือนกับสังคมไทยสมัยนั้นที่ผู้ชายมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้หญิงมาก การเล่นว่าวได้รับความนิยมมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้พสกนิกรเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวงในเขตพระราชวังดุสิต และให้มีการแข่งขันว่าวที่พระราชวังดุสิต เมื่อปี พ.ศ.2449และได้เสด็จทรงเป็นองค์ประธานการแข่งขันด้วยจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2453-2468 พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และได้โปรดเกล้าฯให้พระยาภิรมย์ภักดีจัดการแข่งขันกีฬาว่าวขึ้นที่ท้องสนามหลวง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สยามสปอรต์ คลับได้จัดการแข่งขันกีฬาว่าวประจำปีขึ้นมาอีก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดงานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 และจัดต่อเนื่องมา 6 ครั้ง ที่บริเวณท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ และศูนย์กีฬาเมืองทองธานี จ.นนทบุรี ในปี 2545 นี้ ททท. ร่วมกับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสมาคมกีฬาไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ กำหนดจัดงานว่าวไทยและว่าวนานาชาติ ครั้งที่ 7 ขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2545 ที่กรมทหารราบที่ 16 ค่ายพระสุริโยทัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพิจารณาเห็นว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว และสามารถจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมรดกของชาติ
2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น
3. เพื่อเป็นการจัดกิจกรรมนานาชาติในประเทศไทย และเป็นการแลกเปลี่ยน วัฒนธรรมระหว่างประเทศ
4. เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมซึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง
5. เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานที่ดี
6. เพื่อขยายตลาดทางการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่เสริมในแหล่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
กำหนดการจัดงาน
กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 23-24 มีนาคม 2545 ณ บริเวณกรมทหารราบที่ 16 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
กิจกรรมในงาน
1. การแสดงว่าวนานาชาติ
2. การสาธิต และการแสดงว่าวไทย 4 ภาค
3. การสาธิตการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า
4. การแข่งขันว่าว Stunt Kite
5. การแข่งขันว่าวจุฬาสายเร็ว, ป่านคม
6. การประกวดว่าวภาพ และว่าวแผง
7. การแสดงการละเล่นกีฬาไทย
8. การแข่งขันเครื่องบินบังคับด้วยวิทยุ
9. นิทรรศการ
10. การออกร้านจำหน่ายสินค้า
ขั้นตอนการดำเนินการ
1. จัดทำโครงการจัดงาน
2. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานภายในและหน่วยงานภายนอก
3. จัดประชุมคณะกรรมการจัดงานภายใน ททท.
4. จัดทำแผนเตรียมการจัดงาน
5. สำรวจและวางผังพื้นที่การจัดงาน
6. ออกหนังสือขอการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ
7. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การจัดงาน
8. จัดประชุมคณะกรรมการหน่วยงานภายนอกเพื่อขอการสนับสนุน
9. ดำเนินการจัดงาน
10. ประเมินผลการจัดงาน
เป้าหมาย
1. นักกีฬาว่าวจากต่างประเทศเดินทางมาร่วมแสดงว่าวและแข่งขันว่าวชนิดต่างๆ ประมาณ 100 คน
2. นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาร่วมงานว่าวนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 500 คน
3. มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางในพื้นที่ประมาณ 5,000 คน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
3. สมาคมกีฬาไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
งบประมาณ
1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2. จากหน่วยงานสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. มีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกสำคัญของชาติ
2. นักท่องเที่ยวชาวไทยเกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และมีการเดินทางกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่น
3. เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ
4. เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งส่งผลดีต่อการส่งเสริม กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว
5. มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตราฐานที่ดี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
กองกิจกรรม งานข้อมูลและส่งเสริมกิจกรรม โทร. 0-2694-1222 ต่อ 1972--จบ--
-สส-