กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในเขตภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังปัญหาการระบาดของแมลงบั่วในนาข้าว ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะข้าวที่อยู่ในระยะกล้าถึงระยะแตก หากแมลงบั่วเข้าทำลายข้าวจะไม่สามารถออกรวงได้ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง หากพบการระบาดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงานการระบาดของแมลงบั่วในพื้นที่ จังหวัดอุทัยธานี นครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นที่การปลูกข้าว จึงขอเตือนพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้หมั่นสำรวจและเฝ้าระวังแมลงบั่วลงระบาดในนาข้าว ซึ่งลักษณะของแมลงบั่วนั้น ตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายยุงหรือริ้นลำตัวยาวประมาณ 3 – 4 มิลลิเมตร หนวดและขามีสีดำเวลากลางวันตัวเต็มวัยจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าวบริเวณกอข้าว เวลากลางคืนจะบินไปหาที่ที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธุ์ เพศผู้ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลืองขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เพศเมียส่วนท้องมีสีแดงส้มวางไข่ใต้ใบข้าวในเวลากลางคืน โดยเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม 3 - 4 ฟอง เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้หลายร้อยฟองในช่วงอายุ 4 วัน ไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม ยาวประมาณ 0.45 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 0.09 มิลลิเมตร ระยะไข่ประมาณ 3 – 4 วัน ตัวหนอนคล้ายหนอนแมลงวัน หัวท้ายเรียว หนอนมี 3 ระยะ ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะคลานตามบริเวณกาบใบ เพื่อแทรกตัวเข้าไปในกาบใบอาศัยกัดกินที่จุดของตายอด หรือตาข้างบริเวณข้อ ระยะเวลาช่วงตัวหนอนนาน 11วัน เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะคลานลงสู่ซอกของใบ ยอด และกาบใบเพื่อเข้าทำลายยอดที่กำลังเจริญเติบโต โดยหนอนจะอาศัยกัดกินอยู่ภายในตาของต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ทำให้เกิดเป็นช่องกลวงที่เรียกว่า "หลอดบั่วหรือหลอดหอม" หลอดจะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นตรงส่วนที่ถูกหนอนบั่วทำลาย มีลักษณะเป็นหลอดยาว มีสีเขียวอ่อนแตกต่างจากหน่อข้าวปกติ ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายมีอาการแคระแกร็นต้นเตี้ย ลำต้นกลม สีเขียวเข้ม ไม่ออกรวง ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอจะเป็นระยะที่แมลงบั่วเข้าทำลายมากที่สุด
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1. กำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เช่น ข้าวป่า หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าแดง หญ้าชันอากาศเพื่อทำลายพืชอาศัยของแมลงบั่ว 2. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของแมลงบั่วเป็นประจำ ไม่ควรหว่านข้าวหรือปักดำข้าวถี่เกินไป 3. เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนา หากพบแมลงบั่วจำนวนไม่มากให้ถอนต้นเป็นหลอดออกจากแปลงนานำไปเผาทำลาย 4. ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยเพื่อจับมาทำลาย ในช่วงเวลา 19.00 - 21.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม 5. สุ่มสำรวจแปลงนาเมื่อพบต้นข้าวแสดงอาการใบไม่คลี่ แต่เป็นหลอดคล้ายหลอดหอม 3 - 5 เปอร์เซ็นต์ (ต้นข้าว 100 ต้น พบต้นที่เป็นหลอด 3 - 5 หลอด) ในช่วงข้าวระยะกล้าถึงแตกกอใช้สารกำจัดแมลง คลอไทอะนิดิน 16 % เอสจี หรือ คลอร์ไพรีฟอส 40 % อีซี หรือ อิทิโพรล 10 % เอสจี 5. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แมงมุม และแตนเบียนของแมลงบั่ว