กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ชม พีอาร์
รับเบอร์แลนด์ อุทยานการเรียนรู้เกี่ยวกับยางพาราของไทย เปิดบ้านต้อนรับนักออกแบบรุ่นใหม่ 20 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการประกวด "รับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์" (RUBBERLAND Design Contest) เวทีค้นหาสุดยอดนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุโฟมยางพารา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต พร้อมให้ข้อมูลและพาเยี่ยมชมการทำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโฟมยางพาราที่โรงงานผลิตจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมพูดคุยกับนักออกแบบชื่อดังของไทย พร้อมทั้ง ประกาศผลผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายที่จะได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดและโมเดลกับคณะกรรมการ เพื่อเป็น 1 ใน 3 ทีมนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ชนะเลิศ
นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับเบอร์แลนด์ กล่าวว่า หลังจากที่โครงการ RUBBERLAND Design Contest ได้เปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2560 มีนิสิต นักศึกษา ให้การตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดถึง 277 ทีม จาก 18 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ โดยผลงานทั้งหมดได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและ รับเบอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Workshop กับ รับเบอร์แลนด์ จำนวน 20 ทีม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการผลิตและการตลาดคอยให้ข้อมูลควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านเข้ารอบได้ลองลงมือปฏิบัติจริงในแต่ละจุด และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการออกแบบจากนักออกแบบชื่อดังของไทย เพื่อนำไปปรับแบบที่ส่งเข้าประกวดให้มีความเป็นไปได้ในการผลิตจริง และตอบโจทย์การแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในอนาคตตามคอนเซ็ปต์ Future Living ปั้นยางให้เป็นงาน ผลิตภัณฑ์เพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต"
นอกจากนี้ ยังมี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของโครงการ RUBBERLAND Design Contest ที่มาแนะนำวิธีการคิดและดีไซน์ผลงานที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้คอนเซปต์ Future Living ให้ได้ผลงานที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและสามารถผลิตออกมาเป็นชิ้นงานได้จริง
"ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็น 1 ในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการตัดสินโครงการ RUBBERLAND Design Contest และได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปในครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นการนำยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยมาเป็นวัสดุในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สำหรับงานดีไซน์ที่ดีไม่ใช่แค่การดีไซน์เฉพาะรูปลักษณ์ภายนอกของชิ้นงานนั้นๆ แต่ต้องให้คำนึงถึงกระบวนการผลิตที่เป็นตัวของตัวเองเพื่อให้เห็นถึงวิธีการคิด และ รู้จักใช้ทรัพยากรไม่มาก แต่ได้ประสิทธิภาพสูง ด้วยการผสานกับการออกแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์คอนเซ็ปต์ Future Living" รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้เข้ารอบทั้งหมดยังได้เดินทางสู่ รับเบอร์แลนด์ (RUBBERLAND) พิพิธภัณฑ์ยางพาราแห่งแรกในประเทศไทย ที่นำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย มีทั้งหมด 5 โซนด้วยกันคือ โซนป่ายาง โซนแปรรูปยางพารา โซนยางกับชีวิตประจำวัน และโซนมหัศจรรย์ยางพารา โดยได้รับการต้อนรับจาก คุณนฤมล รัตน์ตระกูลทิพย์ ผู้จัดการทั่วไป รับเบอร์แลนด์ (RUBBERLAND) และทีมงาน อีกทั้งได้รับความรู้จากวิทยากรบรรยายเกร็ดความรู้เกี่ยวกับยางพาราให้น้องๆ ได้ตะลุยดินแดนยางพารา พร้อมร่วมเล่นกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์กันอย่างสนุกสนาน
หลังจากกิจกรรมเวิร์คชอปสิ้นสุดลง ผู้เข้ารอบต่างได้นำข้อแนะนำ และไอเดียใหม่ๆจากกิจกรรมครั้งนี้ไปปรับผลงานการออกแบบ และส่งมาให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็น 10 ทีมสุดท้ายของโครงการรับเบอร์แลนด์ ดีไซน์ คอนเทสต์ ได้แก่
- ทีมนักออกแบบจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ทีม
- ทีมนักออกแบบจาก มหาวิทยาลัย ขอนแก่น 3 ทีม
- ทีมนักออกแบบจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 6 ทีม
ผลงานของทั้ง 10 ทีมนี้ จะได้นำไปขึ้นโมเดลจริง เพื่อจัดแสดงในงานประกาศผล พร้อมกับทีมนักออกแบบจะได้เสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ และสื่อมวลชน เพื่อเฟ้นหาทีมที่ชนะ 3 รางวัล ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในโครงการ RUBBERLAND Design Contest จะได้รับเงินสด 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร พร้อมเซ็นสัญญารับส่วนแบ่งในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากทางรับเบอร์แลนด์ เป็นระยะเวลา 1 ปี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับเงินสด 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับเงินสด 20,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลสำหรับทีม และประกาศนียบัตร โดยจะประกาศผลในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน