กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ผู้จัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 (National Engineering 2017) ที่จะมีขึ้นในวันที่16 – 18 พฤศจิกายน 2560 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด Engineering 4.0 ผนึกกำลังกว่า 100 องค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง ""แนวโน้มอนาคตที่อยู่อาศัย...สมาร์ทไลฟ์และสังคมปลอดภัย""พร้อมโชว์หุนยนต์ ชื่อ ""สุดซอย"" หนึ่งในนวัตกรรมหุ่นยนต์กู้ชีวิตในซากอาคารถล่มรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น
หลากมุมมองและข้อคิดที่น่าสนใจ 6 ท่าน จากเวทีเสวนาเรื่อง ""แนวโน้มอนาคตที่อยู่อาศัยบ้าน 4.0...สมาร์ทไลฟ์และสังคมปลอดภัย""
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ท่ามกลางคลื่นยักษ์ดิจิตอลและเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงฉับพลัน (Disrupt) และสร้างโมเดลใหม่ๆ คนไทย ธุรกิจอุตสาหกรรมและประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้การพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริบทที่เชื่อมต่อกับโลก จะเห็นว่าอะไรที่เคยเป็นจุดอ่อนอาจกลายเป็นจุดแข็งและหลายอย่างก็เปลี่ยนความคิดไป อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร และห้างสรรพสินค้า โดยต่อไปอาจเป็นเพียงโชว์รูมเท่านั้น คนจะไปเดินเล่นแล้วกลับมาซื้อผ่านออนไลน์แทนเนื่องด้วยราคาที่ถูกกว่า ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาขณะที่สื่อออนไลน์เติบโตขึ้น ธุรกิจเทปซีดีหายไปเพราะคนส่วนใหญ่นิยมฟังผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ก่อนมองว่าองค์กรธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีและมั่นคง ต้องมีพนักงานจำนวนมาก แต่ปัจจุบันการมีพนักงานที่น้อยแต่มีประสิทธิภาพและใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน ทำให้บริษัทได้กำไรสูง ผู้ผลิต Apple ที่ไม่เคยมีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง แต่ผงาดขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆที่ครองใจคนทั้งโลกและมีผลประกอบการดีตลอดมา ส่วน Facebook , Google มีรายได้จากการโฆษณามหาศาล โดยไม่มีพนักงานขายโฆษณา เพราะใช้พาร์ทเนอร์และพัฒนาแพลทฟอร์มให้ลูกค้าสามารถทำเองได้ กำไรสูงเพิ่มขึ้นทุกปี ระบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเครื่องจักรเสมือนมนุษย์จะทำให้อนาคตงานหลายอย่าง เช่น งานตรวจสอบภายในของบริษัทจะทำโดย AI และนี่คือตัวอย่างผลกระทบจากคลื่นยักษ์ดิจิตอล โดยผู้ที่จะอยู่ได้จากแรงกระแทกนี้ต้องรู้จักการพัฒนาปรับตัวตามให้ทันและนำมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม เร่งพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเมกะเทรนด์โลก โดยทำให้เมืองมีความสมดุลรอบด้าน เชื่อมต่อการบริหารจัดการเมืองกับบริการ สาธารณูปโภคและถนนคมนาคมเข้ากับอินเตอร์เน็ต มีการบริหารจัดการพลังงาน การจัดการที่จอดรถอัจฉริยะ การเก็บขยะอัจฉริยะ ผลดีคือ จะช่วยให้เราจัดการเมืองและการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาอุบัติเหตุ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิต ในประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาเมืองเป็น สมาร์ทซิตี้ ในแต่ละภูมิภาค เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งแต่ละเมือง จากแนวคิดหลักรูปแบบของการพัฒนาจะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันใน ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ทรัพยากรและวัฒนธรรม และหากสามารถนำเรื่องเทคโนโลยีมาใช้ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในท้องถิ่น เช่น ภูเก็ต จะมีความได้เปรียบในเรื่องของการท่องเที่ยว ต่างกับจังหวัดชลบุรี ที่จะมีภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว จังหวัดทางภาคใต้ ไม่มีค่อยมีอุตสาหกรรม แต่มีชายทะเลสวยงามยาวตลอด สามารถทำเป็นศูนย์กลางเมืองสุขภาพได้ เป็นต้น นโยบายสร้างเสริมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี เป็น สมาร์ทซิตี้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก และถ้าสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความปลอดภัย และสังคมสูงอายุจะมีผลเกี่ยวโยงไปกับการวิจัยพัฒนาและภาคอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุต่างๆ ที่จำเป็น จะได้มีต้นทุนถูกลง คิดว่าถ้ามีมาตรการจูงใจอื่นๆ ให้กับผู้ลงทุนนำอุปกรณ์เกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่ง
คุณอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า แนวโน้มเทคโนโลยีอนาคต การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะมุ่งเน้นการสร้างเสริมสมาร์ทไลฟ์ สะดวกทันสมัย ประหยัดพลังง่าน เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม บ้านยุค 4.0 ในอนาคตจะเป็นบ้านที่ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต (The Connected Home) เราสามารถควบคุมบ้านได้ผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต อาทิ การควบคุมการปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ติดตาม แจ้งเตือนผู้บุกรุกในขณะที่เราไม่ได้อยู่ภายในบ้าน ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการออกแบบก่อสร้างบ้าน เช่น ระบบ BIM (Building Information Modeling )หรือ การจำลองข้อมูลต่างๆของอาคารมาใช้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้าง คือ 1.สามารถควบคุมเวลา 2.ควบคุมต้นทุน 3.เพิ่มประสิทธิภาพรอบการทำธุรกิจ และ 4.ประหยัดแรงงานซึ่งเราขาดแคลนอยู่นั้น ปัจจุบันภาคการก่อสร้างใช้แรงงานต่างด้าวถึง 80-90% ทั้งนี้จะพบว่า การก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ประมาณ 75% จะใช้ระบบพรีคาส สำหรับไทยแลนด์ 4.0 นั้น คิดว่านโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมหลักเป็นหัวหอกของการพัฒนานั้น ถือเป็นการสร้างความชัดเจนในการประกาศนโยบายต่อนักลงทุนทั่วโลก ขณะเดียวกัน งบประมาณจำนวนมหาศาลในเฟสแรก 1.5 ล้านล้านบาท จะมุ่งในเรื่องโครงสร้าง สร้างโรงพยาบาล สร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งรูปแบบของที่อยู่อาศัยจะถูกจัดวางให้เป็น สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และรวมกันเกิดเป็นเมือง หรือ สมาร์ททาวน์ หรือแม้แต่เรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ก็ช่วยให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่า Smart Home & Smart City มันต้องไปด้วยกัน บ้านยุค 4.0 ในอนาคต เป็นบ้านที่มีความสุขและเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงคอมพิวเตอร์ แต่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วย ทำให้สะดวกสบาย ปลอดภัยและควบคุมได้แม้ไม่ได้อยู่บ้าน วัสดุก่อสร้างจะมีการคิดค้นใหม่ๆเพื่อความมั่นคงแข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างได้เร็ว ลดความสิ้นเปลืองพลังงาน จะเห็นว่าบ้านในหลายเมืองทั่วโลกเริ่มใช้พลังงานทางเลือกกันแล้ว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีอุปกรณ์ให้เลือกใช้โดยมีประสิทธิภาพสูงและราคาถูกลง ซึ่งวันนี้ก็เรื่มมีบางโครงการจัดสรรก็คือทุกบ้านติดโซล่าเซลล์ คำนวณการใช้พลังงาน คำนวนที่มันพอดีพอเหมาะกับการใข้ สิ่งเหล่านี้มันจะเพิ่มในการผสมผสานแล้วก็นำมาใช้กับที่อยู่อาศัยทางด้านบริหารจัดการก่อสร้าง แล้วก็เรื่องของการตอบสนองทุกคนที่อยู่อาศัยในบ้าน บ้าน 4.0 สามารถชาร์จไฟจากแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันแล้วกักเก็บพลังงานด้วยตู้กักเก็บพลังงาน ESS ซึ่งนับวันจะมีการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและขยายตลาดต่อเนื่องนั้น สามารถใช้ EV Charger ชาร์จไฟจากระบบในบ้านอนาคตได้ ในยุคของข้อมูลข่าวสารอันมหาศาล หรือ Big Data บ้าน 4.0 ต้องมีระบบความปลอดภัยทางสารสนเทศและติดตั้งระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบตรวจจับควัน ความร้อนและดับเพลิง CCTV ที่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนให้เห็นความเป็นไปในบ้าน ระบบแจ้งเตือนเจ้าของบ้านถึงอุบัติเหตุของผู้สูงวัยในบ้าน เป็นต้น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทปรับเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังเข้ามาสู่ในบ้านด้วย หลายคนคงจะได้เห็นการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้เปิดตัว หุ่นยนต์ที่ชื่อ โซเฟีย ซึ่งได้รับสิทธิ์การเป็นพลเมืองของประเทศซาอุดิอาราเบีย เป็นตัวแรกของโลก เป็น Social Robot ที่ได้รับการออกแบบมาให้มีผิวหนังสมจริง พูดโต้ตอบได้อย่างน่าทึ่ง สบสายตา แสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้ถึง 62 แบบ มุ่งการใช้งานช่วยเหลือมนุษย์ ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าแทบทุกบ้านจะมีหุ่นยนต์ 1 ตัว เพื่อใช้งานที่ทำซ้ำ งานที่ใช้แรงหรืองานเสี่ยงอันตราย หุ่นยนต์ในบ้านบางแบบจะเป็นเพื่อนผู้สูงวัย คอยเสนอโปรแกรมชวนออกกำลังกาย เล่นเกมสนุก เตือนทานข้าว กินยาตามเวลา ยามที่ลูกหลานไปทำงาน ก็สามารถดูความเป็นไปในบ้านและพูดคุยกับผู้สูงวัยในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนและหน้าจอบนหุ่นยนต์ได้
ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชากรหุ่นยนต์ทั่วโลกมี 1.1 ล้านตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) จะมีบทบาทพัฒนาปฎิรูปอุตสาหกรรมไทยและงานบริการสาธารณะมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมเป็น Smart Machine, Smart Manufacturing และSmart Factory โดยเครื่องจักร หุ่นยนต์ ระบบการบริหารจัดการเชื่อมต่อสื่อสารกันผ่านระบบคลาวด์ ช่วยเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพการผลิตและดีต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีอุบัติภัยจากธรรมชาติและที่เกิดจากมนุษย์ " สุดซอย "" เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมหุ่นยนต์กู้ชีวิตในซากอาคารถล่ม เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ หุ่นยนต์" สุดซอย ""ได้ถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศที่ขรุขระได้อย่างคล่องแคล้ว อีกทั้งสามารถทำการสำรวจซากปรับหักพังได้อย่างอัตโนมัติ หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำหน้าที่เข้าค้นหาตำแหน่งที่คาดว่าจะยังคงมีผู้ที่รอดชีวิตและส่งสัญญาณกลับออกมาเพื่อให้ทีมกู้ภัยเข้าถึงจุดได้ถูกต้อง โดยหุ่นยนต์ตัวนี้ยังสามารถบรรทุกน้ำดื่มหรือเสบียงที่มีน้ำหนักไม่มากนำติดตัวเข้าไปด้วยหากพบผู้ที่รอดชีวิตก็สามารถช่วยประทังชีวิตได้ในเบื้องต้นช่วงระหว่างรอทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือออกมา ซึ่งหุ่นยนต์ลักษณะนี้ยังสามารถดัดแปลงใช้งานในภารกิจอื่น ๆ ได้ เช่น งานกู้กับระเบิด หรืองานที่ต้องเสี่ยงภัยอื่น ๆ มาชมหุ่นยนต์ ""สุดซอย"" ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 กันได้ครับ
คุณวิลาสินี จันทร์วุฒิวงศ์ นางสาวไทย 2557 ปัจจุบันเป้นนักศึกษาภาควิชานวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของคนไทยในการร่วมสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่และยั่งยืน โดยเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา รัชกาลที่ 9 ก่อนจะพัฒนาต้องทำความเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา นั่นคือการสำรวจคิดวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายซึงแต่ละพื้นที่ แต่ละองค์กร แต่ละชุมชนสังคมมีความแตกต่างกัน จึงต้องนำองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จากประสบการณ์ที่เดินทางไปดูงานธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ จะเห็นผู้ประกอบการยุคใหม่มีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสของการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยปรับปรุง พ้ฒนากระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียวัตถุดิบ ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุน ลูกค้าก็พึงพอใจมากขึ้น ประชาชนผู้บริโภคเองหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และจะดีอย่างยิ่ง หากเราช่วยกันส่งเสริมให้โรงเรียน ชุมชนหมู่บ้านช่วยกันพัฒนาเป็น Smart School, Smart Village ทำอย่างไรจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดขยะจากถุง ขวดพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาวิกฤติขยะของทุกคนในวันนี้ และลุกลามไปถึงท้องทะเล อย่างที่เป็นข่าวขยะในทะเลของไทยติดอันดับ 6 ของโลก การมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่และยั่งยืนเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนค่ะ
คุณปิยลักษณ์ รักประทานพร วิศวกรและสื่อสารมวลชน มาแลกเปลี่ยนและเปิดมุมองแนวโน้มและบทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมนวัตกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนไปสู่ Smart life และ Thailand 4.0 คนรุ่นใหม่ในองค์กรจำเป็นต้องผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับประสบการณ์ของคนหลายวัยในองค์กรเพื่อสร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความสำเร็จในองค์กร นวัตกรรมเพิ่มคุณค่าและสร้างความโดดเด่นให้ธุรกิจ และการทำงาน เช่น ในแวดวงข่าว สมัยก่อนนี้การทำข่าวทางอากาศต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่สมัยนี้แค่โดรนตัวเดียวประมาณหมื่นกว่าบาทก็ทำได้แล้ว บางสถานีโทรทัศน์นำเอาเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟกราฟิก ช่วยสร้างสีสันความน่าสนใจและความเข้าใจในข่าวด้วย บ้างมาใช้กับฉาก เพียงลงทุนไม่มาก แต่ก็ได้มาใช้ประโยชน์กับองค์กรให้ได้มากขึ้น เมื่อก่อนนี้การถ่ายทอดสดระบบ OB ต้องใช้คนประมาณ 20 คนได้มีคนควบคุมเครื่อง แต่เดี๋ยวนี้ใช้เครื่อง 3G ตัวเล็กๆใช้แค่ประมาณ 2 คนจบ เพียงช่างภาพกับนักข่าวก็นำมาออกอากาศได้แล้ว คนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีจะทำให้หน้าที่การงาน และองค์กรเจริญก้าวหน้า การปรับตัวและเรียนรู้สำคัญมากในการทำงานยุคนี้ ขณะเดียวกันควรมีการตรวจสอบข้อมูลด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คุณทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 เผยว่า งาน ""วิศวกรรมแห่งชาติ 2560""(National Engineering 2017) ในวันที่ 16 -18 พย.2560 ภายใต้แนวคิด วิศวกรรม 4.0 (ENGINEERING 4.0) เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกและการเชื่อมต่อเครือข่ายที่จะตอบสนอง Industry 4.0 และ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยให้คนไทยได้ตระหนักถึงบทบาทในการร่วมสร้างสรรค์สังคมน่าอยู่ปลอดภัย ด้วยการพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับความยั่งยืน โดยการสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ สร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี และสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้งนี้ภายในงานจะได้พบกับผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีต่างๆ ภายในงาน เปิดเวทีสัมมนาความคิดใหม่ๆสำหรับวิศวกรและผู้สนใจลงทะเบียนจองที่นั่งได้ล่วงหน้า ในหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมในอนาคต พร้อมชมการแข่งขันกลไกอัจฉริยะ (Karakuri) และการแข่งขันโดรนดับเพลิง (Drone Fire Fighting) อีกทั้งเปิดบริการฟรี "คลินิกช่าง" ให้คำปรึกษาแก่ผู้มางานเกี่ยวกับบ้านและปัญหาทางวิศวกรรมต่าง ๆ โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา
วสท.ยังได้รับเกียรติจากสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน (AFEO) ให้เป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน หรือ CAFEO ครั้งที่ 35 (Conference of the ASEAN Federation of Engineering Organizations) ภายใต้ธีม ""การบริหารจัดการพลังงาน"" ซึ่งจะจัดคู่ขนานกับงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยี กำหนดทิศทางในอนาคตของภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งความร่วมมือของเครือข่ายวิศวกรและโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียน