กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--หอการค้าไทย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ กำหนดจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 35 ในวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยในปีนี้ หอการค้าไทย เห็นว่า การพัฒนาและยกระดับประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด จึงจำเป็นต้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน (Inclusive Growth) จึงได้กำหนด Theme การจัดสัมมนาในปีนี้ ""Executing Trade & Services 4.0 : เติบโต ทั่วถึง แบบไทยเท่ (ThaiTay with Inclusive Growth)"" ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย มาร่วมปาฐกถาพิเศษ และให้ข้อคิดเห็นในประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
นอกจากนั้น ยังได้กำหนดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมด้วยกรณีศึกษาจากประสบการณ์จริงของผู้ประกอบการโดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลัก ที่หอการค้าไทยได้กำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดรับกับ Trade & Services 4.0 ประกอบด้วย
กลุ่ม 1 เรื่อง ""Executing Trade and Investment with Inclusive Growth"" โดยในเรื่อง Investment นั้น การลงทุนต่าง ๆ เริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะใน EEC ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นมีความสนใจลงทุนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังมีความสนใจจากอเมริกา และประเทศอื่น ๆ อีก ซึ่งจะเห็นว่ากระแสการลงทุนกลับมาแล้ว โดยจะต้องเตรียมรับมือทั้งในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การเตรียมบุคลากร เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นใหม่
ส่วนในเรื่อง Trade นั้น หอการค้าไทยพยายามผลักดันการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับการค้ายุคใหม่แล้ว จะทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป การขยายตาดทำไดยากขึ้นในการค้ารูปแบบเดิม ดังนั้น จะต้องมีระบบ IT เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังต้องเน้นการปรับตัวของธุรกิจเข้าสู่ E-Business ซึ่งเป็นแนวโน้มสำคัญของการทำการค้าในอนาคตผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว ซึ่งในการประชุมกลุ่มนี้จะมีตัวอย่างความสำเร็จ จากธุรกิจห้องแถว สู่ธุรกิจหมื่นล้านในปัจจุบัน มาเป็นตัวอย่างของการทำ E-Business ด้วย
นอกจากนั้น ยังจะมีการหารือกันในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ซึ่งจากความพยายามของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา พบว่าอันดับ Doing Business ของไทยดีขึ้นแบบก้าวกระโดด ขึ้นถึง 20 อันดับ (จากอันดับที่ 46 มาอยู่ที่ 26)
รวมไปถึงการหารือเรื่องการลดต้นทุนค่าขนส่ง โดยมุ่งลดต้นทุนค่าขนส่งให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ online รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการค้าและส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดโลก โดยการพัฒนา Platform Market Place ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีกับสินค้าที่มีศักยภาพของท้องถิ่นในการเข้าสู่ตลาด และผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Platform ชั้นนำระดับสากล
กลุ่ม 2 เรื่อง ""Executing Agriculture and Food Processing with Inclusive Growth""เกษตรและอาหารยังคงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญของประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ยังคงมีรายได้สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องพิจารณาในการปรับปรุงหรือปฏิรูปโครงสร้างเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ และก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income trap) โดยในกลุ่มนี้ จะมีการหารือร่วมกัน ได้แก่ 1 การส่งเสริมธุรกิจเกษตรและอาหารให้มีความพร้อมในการแข่งขันภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยงโดยอาศัยกลไกที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน 2 การสร้างและขยายผลมาตรฐานสินค้า และความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อให้ได้มูลค่าต่อหน่วยมากขึ้น 3 การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย 4 การสร้างเครื่องมือให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น และ 5 นำเสนอ Success Case ธุรกิจแปรรูปเกษตรและอาหารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
กลุ่ม 3 เรื่อง ""Executing Tourism and Services with Inclusive Growth"" สำหรับภาคบริการและการท่องเที่ยว (Tourism & Services) ถือเป็นหัวใจหลัก ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ภาคบริการมีสัดส่วนประมาณ 50% GDP ของประเทศไทย และจ้างงาน 40% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ
การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญของภาคบริการ คาดการณ์รายได้รวมจากการท่องเที่ยว ปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับไทย 1.8 ล้านล้านบาท และการท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 10% ต่อปี ทั้งนี้ ปีหน้ารัฐบาลได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก
""หอการค้าไทยเห็นว่า ""จำนวน"" ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ที่สำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็น Value Destination ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น พักให้นานขึ้น ไปในชุมชนหรือสถานที่ที่มากกว่าสถานบันเทิง สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล"" นายกลินท์ กล่าว
นายกลินท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวยังช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใน Value Chain ได้มีส่วนร่วมในการเติบโตไปพร้อมกัน (Inclusive Growth) ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า เกษตรกร การขนส่ง รวมถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นหัวจักรสำคัญในการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย
""หากยังจำกันได้ หอการค้าไทยได้กำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องการขับเคลื่อน (Execution) ภาคบริการให้มีความพร้อมสู่ยุค Services 4.0 โดยอาศัยกลไกของความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) วัฒนธรรม (Cultural) และดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital) ภายใต้แนวทางประชารัฐ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ซึ่งเราเชื่อว่า การขับเคลื่อนตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี"" นายกลินท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ตามแนวคิดข้างต้นแล้ว เช่น โครงการ 1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 ท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างและกระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย โดยอาศัยเครือข่ายอันเข้มแข็งของหอการค้าจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ ในการมีส่วนร่วม ส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด ชุมชนที่มีศักยภาพในการเติบโตร่วมกัน
สำหรับโครงการไทยเท่ทั่วไทย หอการค้าไทย ได้ริเริ่มโครงการฯ ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในการนำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อสร้างเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่างและมีมูลค่าเพิ่ม
นอกจากนี้ ยังมีโครงการการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากแนวโน้มการใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพและมีความพร้อมรองรับการเป็น Health and Wellness Hub ในภูมิภาค การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงเป็นตลาดเป้าหมายที่สำคัญของไทย ในการเพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นช่องทางการกระจายรายได้ และสร้างการจ้างงานในท้องถิ่น
ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 35 นี้ ซึ่งหอการค้าไทยคาดหวังว่า ผลที่ได้จากการสัมมนานี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวจุดประกายให้กับทุกภาคส่วนได้มามีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 4.0 สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ SMEs จนถึงระดับชุมชนในท้องถิ่นทุกจังหวัด ได้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป