กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--Orlov Dream Maker
กกพ.ประกาศตรึงค่าเอฟทีงวด ม.ค. – เม.ย. 2561 เท่ากับงวด ก.ย. – ธ.ค. 2560 ในปัจจุบัน อยู่ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย ท่ามกลางแนวโน้มราคาก๊าซขาขึ้น
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2561 ค่าเชื้อเพลิงทุกชนิด ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และถ่านหิน มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงถึง 15.42 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีในส่วนของเชื้อเพลิงสูงขึ้น 20.25 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากมีเงินสะสมมาตั้งแต่กลางปี 2560 อยู่จำนวนหนึ่ง จึงนำมาช่วยตรึงราคาค่าเอฟทีในงวดนี้ ไว้ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย และเก็บไว้ส่วนหนึ่งไปช่วยพยุงค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2561 ไม่ให้สูงขึ้นมากจนเกินไป เพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ โฆษก กกพ. ยังได้กล่าวสรุปถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ดังนี้
1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าช่วง ก.ย. – ธ.ค. 60 (ปรับปรุงค่าจริงเดือน ก.ย. 60) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34.19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 33.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 0.87 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยวันที่ 1 – 29 ก.ย. 60
2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 เท่ากับ 61,628 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 เท่ากับ 708 ล้านหน่วย คิดเป็นร้อยละ -1.14
3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 58.83 รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ร้อยละ 11.84 ลิกไนต์ ร้อยละ 9.38 และถ่านหินนำเข้า ร้อยละ 9.25
4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ 253.91 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 15.42 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตา 16.20 บาทต่อลิตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.77 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.77 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.24 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,519.49 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้น 163.46 บาทต่อตัน และราคาลิกไนต์ กฟผ. อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง
เปรียบเทียบราคาเชื้อเพลิง
ราคาเชื้อเพลิง ก.ย. – ธ.ค. 60 ม.ค. – เม.ย. 61 เปลี่ยนแปลง
(ปรับปรุงค่าจริง ก.ย.)** (ประมาณการ)
(1) (2) (2) – (1) %
ก๊าซธรรมชาติ* บาท/ล้านบีทียู 238.49 253.91 15.42 6.47
น้ำมันเตา บาท/ลิตร 15.43 16.20 0.77 4.99
น้ำมันดีเซล บาท/ลิตร 19.53 19.77 0.24 1.23
ถ่านหินนำเข้า IPPs บาท/ตัน 2,356.03 2,519.49 163.46 6.94
ลิกไนต์ กฟผ. บาท/ตัน 693.00 693.00 0.00 0.00
* ราคาก๊าซฯ รวมค่าผ่านท่อ
** ปรับปรุงโดยใช้ค่าจริงเดือน ก.ย. 60 แทนค่าประมาณการเดิม
สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ
ในส่วน Adder และ FiT ในเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ได้ปรับเพิ่มจาก 13,015 ล้านบาทในประมาณการงวดปัจจุบัน (ปรับปรุงค่าจริงเดือนกันยายน 2560) มาอยู่ที่ 15,531 ล้านบาท หรือเพิ่ม 2,516 ล้านบาท ประกอบกับประมาณการจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 จะลดต่ำลงจากช่วงปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ซึ่งอยู่ที่ 27.66 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น จากงวด ก.ย. – ธ.ค. 60 ที่ปรับปรุงค่าจริงเดือนกันยายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ 22.86 สตางค์ต่อหน่วย ประมาณ 4.80 สตางค์ต่อหน่วย
จากการตรึงค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 61 ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งจากมติ กกพ. ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 9 – 24 พฤศจิกายน 2560 เวลา 12.00 น. ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป