กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--C.A. Info Media
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2560) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม ประสงค์ สุ่นศิริ อาคาร 20 ทำเนียบรัฐบาลนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายเฉลิมพล มิ่งเมืองไทย ผู้แทนกลุ่มธุรกิจ eTIM นายวิสุทธิ์ บริบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร. บดินทร์ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายนิสมา บุงอซายู ผู้แทนทายาทเกษตรรุ่นใหม่ชายแดนภาคใต้ เปิดเวทีแถลงข่าวความร่วมมือลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนชายแดนภาคใต้ ผ่าน โครงการประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจครัวเรือน เพื่อพัฒนา ""Platform"" อัจฉริยะ เป็นนวัตกรรมระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีสอดรับกับทิศทางการพัฒนา ในโลกปัจจุบัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนให้สามารถดำรงชีพโดยสะดวก มีความปลอดภัย เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าและบริการที่หลากหลายและสอดรับกับความต้องการบริโภค ได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่มีความจำเป็นและสำคัญจะต้องใช้ เพื่อการอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างช่องทางให้ผู้ซื้อผู้ขายได้มีโอกาสจับคู่ทางธุรกิจกันมากขึ้น เชื่อมโยงมิติการค้าการลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้พัฒนา ได้ตามแนวทาง Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการพัฒนาระบบการค้า-การขายในพื้นที่ผ่านเทคโนโลยี Platform ที่กลุ่ม eTIM พัฒนาขึ้น เรื่องนี้ เป็นนโยบายสำคัญ ของรัฐบาล โดยจะมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันภายใต้บทบาทของแต่ละหน่วยงาน ศอ.บต. ทำหน้าที่สำคัญร้อยเรียงและบูรณาการความร่วมมือเหล่านั้น ให้เป็นไปโดยสอดรับ/สนับสนุนกัน เช่น กลุ่มทายาทเกษตรชายแดนภาคใต้ ที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านชุมชน วันนี้เมื่อมีผลผลิตก็ไม่รู้จะไปขายสินค้าที่ไหน หากมีพื้นที่ขายก็ไกล ต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่ง ไม่คุ้มกัน แต่หากเรามี Platformอัจฉริยะดังกล่าว ก็จะเป็นเข้าไปช่วยเขาและประชาชนอีกหลายๆ กลุ่ม เพราะการทำงานเรื่องนี้ จะเป็นการย่อโลกการค้า ลงมา ทำให้เกิดการเชื่อมต่อมากขึ้นและง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ก็สามารถดำรงชีวิตได้สะดวกมากขึ้นด้วยการยกระดับร้านค้าในชุมชน เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ถือว่า ""ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา"" นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมือที่ดีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน การพัฒนาศูนย์สารสนเทศระดับชุมชน ซึ่งจะพัฒนากระบวนการให้ความรู้ เทคนิคและทักษะที่เป็นประโยชน์ ต่อชุมชนเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐเศรษฐกิจครัวเรือน รวมทั้ง จะพัฒนาระบบร้านค้าขนาดเล็ก (Kiosk) ทั้งในและนอกประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อช่วยกระจายสินค้าในพื้นที่ต่างๆ และยังได้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่จะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อพิเศษเพื่อประชาชนและร้านค้าชุมชนเพื่อเปิดโอกาสการพัฒนา ได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นความหวังของประชาชนที่ต้องการทำธุรกิจในพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินทางออกไปไกลเช่นที่ผ่านมา
สุดท้าย นายศุภณัฐฯ กล่าวและว่าการทำงานในครั้งนี้ ตั้งเป้าที่จะเชื่อมต่อกับนานาประเทศให้ได้ ผ่านสินค้าดี สินค้าเด่น สินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของเมืองต้นแบบ ""สามเหลี่ยมมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน"" และสินค้าฮาลาลที่สามารถซื้อขายได้คล่องขึ้น และหวังว่าสินค้าที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้ จะถูกส่งต่อไปสู่มือประชากรมุสลิม 2.2 พันล้าน ทั่วโลก ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ให้ได้