กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--มรภ.สงขลา
อาจารย์ มรภ.สงขลา ดึงจุดเด่นทางอัตลักษณ์ชุมชน ทำวิจัย ""โนราจิตภาพคลองแดน""ออกแบบท่ารำเฉพาะพื้นที่ ถ่ายทอดท่ารำให้นักเรียน ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 11 แสดงตลาดริมน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน
อ.ทัศนียา คัญทะชา ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยออกแบบการแสดงโนราเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดริมน้ำคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การแสดงโนราที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนคลองแดน โดยใช้การสังเกต สัมภาษณ์ สนทนากลุ่มเป็นเครื่องมือในการศึกษา ผลการวิจัยพบว่าชุมชนวิถีพุทธคลองแดนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาออกแบบการแสดงโนราเพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะชุมชนได้ โดยนำประวัติชุมชน ลักษณะทางกายภาพของตลาด วิถีชีวิต ความเชื่อ การแสดงพื้นบ้าน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในชุมชน มาประพันธ์บทร้องโนรา บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน และวิเคราะห์พฤติกรรมของนักท่องเที่ยว
จากการวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย (Facebook) ตนจึงนำมาเป็นข้อมูลประกอบการสร้างสรรค์ท่ารำโนราที่ประกอบกันเป็นภาพ ได้แก่ ภาพลำคลอง ภาพเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช ภาพเรือ ภาพร้านค้า ภาพสะพานไม้ เป็นต้น โดยใช้ชื่อการแสดงว่า ""โนราจิตภาพคลองแดน"" จากนั้นนำมาถ่ายทอดให้กับนักแสดงในชุมชนจำนวน 8 คน เป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 11 เพื่อใช้แสดงในตลาดริมน้ำคลองแดนทุกวันเสาร์ เวลา 18.00 น. โนราจิตภาพคลองแดนเป็นทั้งสื่อความบันเทิงที่ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว และบทร้องโนรายังเป็นสื่อที่แสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนคลองแดน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนชนบทอย่างยั่งยืน
""ในการทำวิจัยมีนักศึกษานาฏยรังสรรค์ปี 2-4 ที่ลงเรียนวิชาโนราตัวอ่อนในตอนนั้นเป็นต้นแบบ แล้วนำไปให้ ผศ.สาโรช นาคะวิโรจน์ อดีตโนราวิทยาลัยครูสงขลา ตรวจบทร้องและท่ารำ จนเมื่องานวิจัยเรื่องนี้แล้วเสร็จ ก็ได้ถ่ายทอดให้กับนักเรียนซึ่งเป็นนักแสดงของชุมชน ทุกครั้งที่เด็กๆ ออกแสดงชาวชุมชนมีความชื่นชอบมากๆ และรู้สึกดีใจที่มีโนราที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ต่อมารายการทุ่งแสงตะวันติดต่อขอถ่ายทำรายการ นายอภิชาติ จึงนำเสนอโนราคลองแดน เมื่อทางรายการทราบว่าเป็นผลงานวิจัยของทรายจึงเชิญไปออกรายการ"" ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง กล่าวและว่า
สำหรับที่มาของการทำวิจัยเรื่องนี้ว่า เริ่มจากเมื่อปี 2550 ตนเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยของ ดร.จเร สุวรรณชาติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย ชักชวนไปทำโครงการวิจัยชุด การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูชุมชนในชนบท ซึ่งตนรับผิดชอบโครงการย่อยที่ 3 อนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราในชุมชนคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา โดยมี ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 ได้รับทุนเครือข่ายการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผลจากงานวิจัยชุดนั้นได้สร้างนักแสดงโนราในชุมชนคลองแดน เพื่อแสดงในตลาดริมน้ำคลองแดน
จนกระทั่งปี 2558 นายอภิชาติ เหมือนทอง รองประธานชุมชนคลองแดน ได้ประสานมายังตนว่าเด็กรุ่นเก่าเรียนจบกันหมดแล้ว ต้องออกไปเรียนในตัวเมือง อยากให้กลับไปช่วยเรื่องโนราอีกครั้ง ตนจึงขอทุนจากมหาวิทยาลัยเพื่อทำวิจัยให้กับคลองแดน โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ไม่เป็นตลาด จนเป็นตลาดริมน้ำคลองแดนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเช่นทุกวันนี้ ตนจึงกลายเป็นที่ปรึกษาทางด้านการแสดงของชุมชน เมื่อไหร่ที่ชุมชนต้องการความช่วยเหลือก็จะกลับไปดูแล