กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลกหลังเป็นที่นิยมในตลาดโลก และทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเกินกว่า 10% ในทุกตลาด ลุยจัดเต็มเดินหน้าส่งเสริมทุกภาคส่วน พัฒนาเกษตรกรและผู้ผลิตเร่งผลิตสินค้าอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานสากล จับมือห้างสรรพสินค้านำสินค้าเกษตรอินทรีย์มาจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน พร้อมเปิดบูธจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นการ ตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน เดินหน้าสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับกลุ่ม CLMV และผลักดันจัดตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอินทรีย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ชี้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนมีความหลากหลาย ครอบคลุมข้าว พืช ผัก ปศุสัตว์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์เร่งเครื่องเดินหน้าดันสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ตลาดโลก โดยเน้นการส่งเสริมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคเพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากที่ปัจจุบันมูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์อยู่ที่ 2,700 ล้านบาท โดยในส่วนของผู้ผลิต และเกษตรกรได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ให้ความรู้ ผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตพัฒนากระบวนการเพาะปลูกสินค้าอินทรีย์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด กระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล รวมถึงให้มีการขอตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากล อาทิ มาตรฐาน IFOAM เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนประสานกับผู้ผลิตเพื่อเชื่อมโยงการรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าแต่ละตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และการช่วยพัฒนาสินค้า การออกแบบ และการหาตลาดรองรับโดยการจำหน่ายผ่านช่องทางที่มีอยู่ เช่น Farm Outlet และการประสานผู้ผลิต ห้างสรรพสินค้าให้เข้ามารับซื้อผลผลิตไปจำหน่าย เช่น ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และกลุ่มเดอะมอลล์ เป็นต้น รวมถึงการเปิดบูธจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นการเฉพาะ และผลักดันให้มีการขยายตลาดต่างประเทศ เช่น การนำผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทั้งในไทย และต่างประเทศ เช่นงาน THAIFEX และงาน BIOFACH ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าอินทรีย์นานาชาติที่ใหญ่และมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในโลก และล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกรมการค้าภายในกับบริษัท NuernbergMesse Gmbh (NM) จากเยอรมนี เตรียมจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าอินทรีย์และสินค้าธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่ประเทศไทยกลางปี 2561
""กระทรวงพาณิชย์จะใช้นโยบายประชารัฐในการเข้าไปส่งเสริม และผลักดันการเพาะปลูก และการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะสินค้าเกษตรอินทรีย์ถือเป็นสินค้าใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงมากในฐานะที่เป็นอาหารปลอดภัย กระบวนการผลิตปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน และส่งเสริมไม่ได้มีเพียงข้าว แต่ยังครอบคลุมไปถึงพืช ผัก และปศุสัตว์ ซึ่งทุกวันนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญมากโดยสินค้าเกษตรอินทรีย์มีอัตราการเติบโตที่สูงเกินกว่า 10% ในทุกตลาด นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมองไปถึงแผนการขยายตลาดและความร่วมมือในการผลิต และค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน โดยเน้นการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์กับกลุ่ม CLMV ซึ่งมีการเชิญเกษตรกรจาก CLMV มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน มีการลงมือ ปฏิบัติในแปลงสาธิต ตลอดจนการอบรมด้านการตลาด และระบบ โลจิสติกส์ อีกทั้งยังมีการผลักดันความร่วมมือระหว่างสมาคมเกษตรอินทรีย์ของประเทศในอาเซียน หลังจากที่ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation) แล้ว โดยจะทำการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอินทรีย์ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ภาคส่วนอินทรีย์ของอาเซียนเติบโตอย่างเข้มแข็งไปด้วยกัน "" นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวต่อไปว่า ""พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 300,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด และมีฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 13,154 ฟาร์ม ณ ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศและส่งออกเป็น 60:40 จากที่ปัจจุบันยอดการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท และยอดส่งออกประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งถ้าสามารถเพิ่มสัดส่วนการตลาดได้ก็จะช่วยให้เพิ่มพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ในอนาคต""
อนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบ ""ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564"" ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือ 1.) ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ 2.) พัฒนาการผลิตสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ 3.)พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ4.) การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ มุ่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล