กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 63.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- มกุฎราชกุมาร Salman ของซาอุดีอาระเบียจับกุมเชื้อพระวงศ์ รวมทั้งรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีรวมกว่า 200 รายจากการทุจริตคอรัปชั่น เปิดโอกาสให้พระองค์แต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดดำรงตำแหน่งสำคัญแทนที่ ทั้งนี้อัยการสูงสุดของซาอุดีอาระเบียประเมินว่ามีการทุจริตอย่างเป็นระบบ มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระบุว่าการจับกุมครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น
- ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียทวีความตึงเครียด ล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 60 กลุ่ม Houthi ในเยเมนใช้ขีปนาวุธยิงโจมตีเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียแม้ไม่สำเร็จ แต่ซาอุดีอาระเบียกล่าวหาว่าเป็นอาวุธจากอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดีอิหร่าน นาย Hassan Rouhani ระบุว่ากลุ่ม Houthi เป็นการตอบโต้การใช้กำลังทางอากาศของซาอุดีอาระเบียที่โจมตีเยเมนอย่างหนัก และต่อเนื่องนานเกือบ 3 ปี สร้างความเสียหายแก่เยเมนอย่างรุนแรง
- JBC Energy รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาสู่สหรัฐฯ เดือน ต.ค.60 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 430,000บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532
- Reuters รายงานลิเบียมีแผนส่งออกน้ำมันดิบลดลง เนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ในเมือง Ubari มีกำหนดเริ่มเดินเครื่องปลายเดือน พ.ย. 60 และต้องการใช้น้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara เป็นเชื้อเพลิง เริ่มที่ปริมาณ 30,000 บาร์เรลต่อวัน และเพิ่มเป็น 50,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันแหล่ง Sharara ผลิตที่ระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 457.1 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 670,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2526 กรมศุลกากรของจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวันและเป็นปริมาณนำเข้าที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน เพราะโรงกลั่นเอกชนนำเข้าครบตามโควต้าที่ได้รับการจัดสรร
- EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ในเดือน พ.ย. 60 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 35% สู่ระดับ 6.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจำนวนหลุมผลิตน้ำมันที่ขุดเจาะแล้วเสร็จ แต่ยังไม่ดำเนินการผลิต (Drilled-but-Uncompleted) เดือน ก.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43 % มาอยู่ที่ 7,120 หลุม
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI มีแนวโน้มลดลง หลังแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางปะทุและมีโอกาสบานปลาย หลังเกิดความตึงเครียดระลอกใหม่ระหว่างซาอุฯ และอิหร่านทั้งในสมรภูมิเดิมที่เยเมน, เลบานอนและบาห์เรนซึ่งเกิดเหตุระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ A-B (ปริมาณสูบถ่าย 230,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สถานการณ์ยังซับซ้อนขึ้นเนื่องจากบาห์เรนมีฐานทัพสหรัฐฯ ตั้งอยู่ ล่าสุด สหรัฐฯ และฝรั่งเศสเห็นว่าการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เลบานอนของนาย Saad al-Hariri เป็นการตัดสินใจของตนเอง และหลายฝ่ายคาดว่านาย Saad al-Hariri ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ซาอุฯ ส่วนกองกำลัง Hezbollahประณามการแทรกแซงของซาอุฯ และกล่าวว่าซาอุฯ ยุแยงให้อิสราเอลโจมตีเลบานอน ส่วนด้านอุปสงค์ Reuters ประเมินว่าผู้ค้าน้ำมันนำเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดใหญ่ หรือ Very Large Crude Carrier (VLCC) ที่สามารถบรรทุกน้ำมันดิบลำละ 2 ล้านบาร์เรล เก็บน้ำมันดิบ (Floating Storage) บริเวณน่านน้ำสิงคโปร์ และทางตะวันตกของมาเลเซีย ปัจจุบันมีอยู่ 15 ลำ บรรทุกน้ำมันดิบรวมประมาณ 30 ล้านบาร์เรล ลดลงครึ่งหนึ่งจากเดือน มิ.ย. 60 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์น้ำมันดิบล้นตลาดเริ่มคลายลงในแถบเอเชีย ซึ่งความต้องการใช้สูงขึ้น ประกอบกับโครงสร้างราคาซื้อขายล่วงหน้ากลายเป็น Backwardation ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการกักเก็บน้ำมัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.0-65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55.0-59.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียต้น พ.ย. 60 แข็งแกร่งต่อเนื่องจาก ต.ค. 60 หลังอุปทานจากอินเดียถูกดึงไปทางภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในเอเชียเหนือลดการผลิตน้ำมันเบนซิน และหันมาผลิตน้ำมันก๊าดที่ความต้องการใช้ในประเทศสูงขึ้น เพื่อทำความอบอุ่น ประกอบกับ บริษัท Valero Energy ในสหรัฐฯ เข้าซื้อน้ำมันเบนซินส่งมอบที่ New York Harbor เนื่องจากอุปทานในระบบขาดแคลน หลังโรงกลั่น Pembroke (กำลังการกลั่น 270,000 บาร์เรลต่อวัน) ใน Wales ของสหราชอาณาจักร หยุดดำเนินการหน่วย Fluid Catalytic Converter (FCC กำลังการผลิต 90,000 บาร์เรลต่อวัน) ฉุกเฉินเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 209.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 ปี และรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี 5 % และ International Enterprise Singapore (IES) ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 860,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Society of Motor Manufacturers and Trader ของอังกฤษรายงานยอดขายรถยนต์ เดือน ต.ค. 60 ลดลงจากเดือนก่อน 12 % อยู่ที่ 158,192 คัน และยอดขายเฉลี่ย เดือน ม.ค.-ต.ค. 60 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.6% อยู่ที่ 2.2 ล้านคัน เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อรถ เพราะเกรงว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ เก็บค่าธรรมเนียมการใช้พลังงานจากน้ำมัน เพื่อให้การสนับสนุนประกาศยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ปี พ.ศ. 2583 กอรปกับโรงกลั่น CorpusChristi (กำลังการกลั่น 163,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐเท็กซัสฯ ของบริษัท Citgo กลับมาเดินเครื่อง Catalytic Converter (กำลังการผลิต 30,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งปิดดำเนินการแต่วันที่ 6 พ.ย. 60 จากปัญหาทางเทคนิค ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดจร (Spot) บริเวณยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ (NWE) ตึงตัว เนื่องจากมีอุปสงค์จากอเมริกาใต้และแอฟริกาตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 125.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 450,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.55 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัทMangalore Refinery and Petrochemicals (MRPL) ของอินเดียขาย High Speed Diesel (HSD) 0.005 %S ปริมาณ 600,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 8-10 ธ.ค. 60 และ Bharat Petroleum Corp. Ltd. (BPCL) ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.005 % S ปริมาณ 633,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน พ.ย. 60 ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล