กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ม.จุฬาฯ
“ฟัน”เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายในการรับประทานอาหาร ช่วยเสริมสร้างบุคลิกที่ดีบน ใบหน้า รวมถึงการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข แต่จะทำอย่างไรให้ฟันอยู่กับเราไปตลอดชีวิตโดยไม่สูญเสียไปก่อนเวลาอันควร
จากการเปิดเผยของ อ.ทพ.ชาญชัย โห้สงวน ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้ร่วมกับคณะทันตแพทย์จากกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุในชุมชนร่มเกล้า จำนวน ๙๔๑ คน ซึ่งเป็นการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาของโรคในช่องปาก โดยเริ่มต้นจากการตรวจสุขภาพในช่องปาก และสัมภาษณ์เก็บข้อมูลประกอบเป็นจำนวน ๒ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาห่างกัน ๒ ปี เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ และได้สิ้นสุดโครงการไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔
การศึกษาในครั้งนี้ได้ผลสรุปออกมาว่า การสูญเสียฟันเป็นประสบการณ์ที่อาจเกิดขึ้นตลอดอายุขัยของคนเรา ไม่เพียงเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น และเมื่อเกิดการสูญเสียแล้วก็ไม่สามารถทำให้กลับคืนมาได้อีก จำนวนฟันที่เสียไปจะมีการสะสมเพิ่มพูนมากขึ้นตามอายุ การสูญเสียฟันนั้นมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมาก เพราะฟันจัดเป็นอวัยวะที่เราต้องใช้งานทุกวัน ทั้งในการพูด การเคี้ยวอาหาร การเสริมบุคลิกภาพบนใบหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการสูญเสียฟันก็จะ ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางร่างกาย ทางจิตใจ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียฟันของผู้สูงอายุนั้นมีสาเหตุมาจากโรคที่เกิดขึ้นในช่องปากได้แก่ โรคฟันผุ โรครำมะนาด ซึ่งทั้งสองโรคนี้เป็นมาผลจากการที่ผู้สูงอายุไม่ได้เอาใจใส่และดูแลฟันตามหลักสุขอนามัยมาตั้งแต่ต้น และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือเกิดจากความเชื่อของผู้สูงอายุว่าเมื่ออายุมากขึ้นฟันก็จะหลุดร่วงไปเองตามสังขารเหมือนกับผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวย่น จึงละเลยไม่สนใจที่จะดูแลรักษา เมื่อเกิดความผิดปกติและปล่อยไว้จนอาการเรื้อรังจึงไม่สามารถรักษาได้ สุดท้ายจึงต้องกำจัดออกไปแบบถาวร จากกลุ่ม ตัวอย่างที่ทำการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุเพียง ๑๐ % เท่านั้นที่สูญเสียฟันไปหมดทั้งปาก เนื่องมาจากการสูญเสียแบบสะสม สูญเสียตั้งแต่อายุยังน้อย และมาสูญเสียหมดเมื่อวัยชรา แต่ในขณะเดียวกันมีผู้ สูงอายุถึง ๓๒ % หรือเกือบ ๑ ใน ๓ ของผู้สูงอายุที่ทำการศึกษายังมีฟันแท้เหลืออยู่ในปากเกือบครบ ดังนั้นจึงทำให้คณะผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่า การสูญเสียฟันในผู้สูงอายุไม่ใช่วิธีการสูญเสียแบบธรรมชาติอย่างแน่นอน และไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วการสูญเสียฟันเป็นสิ่งที่แก้ไขป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันรณรงค์ให้ความรู้ในการดูแลรักษาฟันให้อยู่กับเราไปจนชั่วอายุขัย โดยควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้สูงอายุว่าการสูญเสียฟันไม่ใช่เรื่องของสังขาร แต่เป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันแก้ไขและรักษาได้--จบ--
-สส-