กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กรมประมง
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันการผลิตสินค้าประมงมีการแข่งขันสูงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องประสบปัญหาในการจัดการผลผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาด นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังดำเนินการผลิตสินค้าแบบต่างคนต่างผลิตทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด แนวคิดการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างครบวงจรพร้อมเชื่อมโยงสู่การตลาดเพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ
""กุ้งทะเล"" เป็นสัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่กรมประมงได้ผลักดันเข้าสู่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาวิกฤตจากโรคระบาดอีเอ็มเอส เมื่อปี พ.ศ. 2556-2557 ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งทะเลลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบ จนกระทั่งในระยะฟื้นตัวจากช่วงดังกล่าว กรมประมงจึงได้นำนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยได้รวมพื้นที่ทางการเกษตรเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ รวมทั้งผลิตสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด เกษตรกรมีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเข้มแข็ง ปัจจุบัน (ปีงบประมาณ 2560) มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 590 ราย รวมพื้นที่ 9,084.93 ไร่ สามารถรวมกลุ่มการผลิตกุ้งทะเลได้แล้วจำนวน 8 แปลง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด จันทบุรี นครศรีธรรมราช ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง ซึ่งในหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นายอนันต์ จรณโยธิน ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด อายุ 49 ปี กล่าวว่า ""ตรัง"" เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่กับกรมประมงตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจากการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้ากุ้งทะเลให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด สามารถช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงได้อย่างดี เนื่องจากเกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองการซื้อปัจจัยการผลิต ลูกพันธุ์กุ้ง และเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตกุ้งทะเลอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงการตลาดซึ่งมีการซื้อขายผลผลิตผ่านกลไกของสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า และมีโอกาสเพิ่มช่องทางการตลาดสู่ Modern Trade ได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดตรังสามารถสร้างผลผลิตกุ้งทะเลได้ถึง 12,153.33 ตันต่อปี สร้างมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกแปลงใหญ่จำนวน 73 ราย รวมพื้นที่ 1,897 ไร่
ด้านนางสาวจิราพร ศิริพันธ์ ผู้จัดการสถิตฟาร์ม อายุ 40 ปี หนึ่งในเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผันตัวจากอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์เพื่อมาสานต่ออาชีพของครอบครัว เล่าว่า เป็นความท้าทายในการเริ่มต้นชีวิตการเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว เนื่องจากช่วง 4 ปีที่เข้ามาดูแลฟาร์มเป็นช่วงรอยต่อที่เกิดวิกฤตโรคอีเอ็มเอสระบาดอย่างหนัก ต้องประสบปัญหาขาดทุน แต่หลังจากที่สถานการณ์เริ่มฟื้นตัวและได้เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ทำให้ตนมีแนวคิดใหม่ๆ ในการบริหารจัดการฟาร์มจากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันระหว่างกลุ่ม โดยเทคนิคสำคัญคือ การจดบันทึกข้อมูลและจัดทำบัญชีอย่างละเอียด ทั้งในเรื่องต้นทุนรายรับ-รายจ่าย ข้อมูลวิธีการเลี้ยงในสภาวการณ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริง การรับรู้ข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วนั้น จะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ในการเลี้ยงรอบถัดไปได้อีกด้วย
ปัจจุบันสถิตฟาร์มสามารถเพิ่มอัตราการรอดของการเลี้ยงกุ้งทะเลได้ถึง 75-80 % และลดต้นทุนในการเลี้ยงได้ โดยลดการใช้สารเคมี หันมาใช้จุลินทรีย์แทน เช่น จุลินทรีย์ ปม. 1 ของกรมประมง ฉีดเพื่อบำบัดก้นบ่อก่อนการนำน้ำเข้าบ่อ และใช้ระหว่างการเลี้ยง จะทำให้เชื้อก่อโรคต่างๆ ในพื้นดิน และในน้ำลดลง สิ่งสำคัญจะต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดพร้อมวางแผนการเลี้ยงโดยเฝ้าระวังสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ฝนตกหนักน้ำมีความเค็มต่ำต้องปล่อยกุ้งในปริมาณที่บางลง จะทำให้กุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ปลอดโรค สามารถผลิตกุ้งไซส์ใหญ่ได้มากขึ้น ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดราคาจำหน่ายก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ""แปลงใหญ่...เป็นฐานข้อมูลในการผลิตและการตลาดที่ดี ทำให้เกษตรกรรู้ว่าจะต้องปรับตัวแต่ละช่วงเวลาอย่างไร ซึ่งจะช่วยประกอบการตัดสินใจในการเลี้ยงกุ้งให้ประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี"" ""นางสาวจิราพร"" กล่าว