กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกพลังประชารัฐกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการ Startup Thailand จัดกิจกรรม Hackathon : Drone for Smart Citiesกำหนดจัดแบบมาราธอน 3 วัน 2 คืน ในวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2560 ภายในงานวิศวะ'60 ณ ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา นับเป็นการแข่งขันการออกแบบและพัฒนาระบบโดรนเพื่อใช้ในการสำรวจเชิงลึกสำหรับเมืองอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ารองรับอนาคตอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 โดยร่วมมือกับ บจก.พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น องค์กรในกลุ่มปตท.ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศ และบริษัท Hiveground ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีโดรน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สจล กล่าวว่า Smart Cities หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเมืองให้ชาญฉลาด สร้างความสมดุลรอบด้านระหว่างผู้อยู่อาศัย เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเชื่อมต่อ การประหยัดพลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนเกื้อหนุนชุมชนสังคม เพื่อความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขั้นตอนพัฒนาออกแบบของเมืองอัจฉริยะนัน จำเป็นต้องใช้โดรน แต่ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังขาดแคลนการพัฒนาซอฟท์แวร์และแอพพลิเคชั่นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถต่อปฎิบัติการเก็บข้อมูลเชิงลึก ลงรายละเอียดมากกว่าภาพถ่ายทั่วไป สามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลเพื่อตอบสนองการนำมาใช้งานพัฒนาเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาอนาคตประเทศไทย 4.0
การจัดแข่งเฟ้นหาไอเดียโดนๆ Hackathon : Drone for Smart Cities กติกาแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ การสำรวจและวิเคราะห์ผังเมือง การดูแลการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่า และการทำการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) วัตถุประสงค์การแข่งขัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพบุคคลากรของไทยและผู้ประกอบการใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนสำรวจเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม Hackathon เป็นรูปแบบกิจกรรมที่ถูกนำมาใช้สร้างโอกาสและช่วยผลักดันให้เมคเกอร์คนรุ่นใหม่ หรือผู้มีความสามารถได้รวมกลุ่มกัน นำแนวคิด แรงบันดาลใจ หรือสิ่งที่ชอบมาสร้างสรรค์เป็นผลงานและแผนธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของสังคม จากการระดมความคิดของทีม และได้ทดลองทำผลงานให้สามารถต่อยอดได้จริง โดยผ่านได้รับประสบการณ์ดีๆ และคำแนะนำจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ
ภายในงานได้เชิญ 5 ท่านร่วม เสวนาเทคโนโลยีโดรน กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เรื่อง ""From Sci-Fi to Reality, UAV to Smart City"" ใครที่เคยชมภาพยนตร์ Sci-Fi (Science Fiction) อาทิ Iron Man, Transformer, I-Robot หรือ RoboCop เชื่อว่าหลายๆ คน มีความรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะมาให้เราเห็นแล้วในชีวิตจริง ทั้งนี้มี ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.),คุณอรวดี โพธิสาโร กรรมการผู้จัดการ บจก.พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น (PTT Digital Solutions) , รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล , คุณธาวัน อุทัยเจริญพงษ์ ผู้ถือหุ้นและวิศวกรอาวุโส บริษัท Hiveground ในเครือเอชจี โรโบติกส์ ผู้ผลิตโดรนและหุ่นยนต์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจ
จากการสำรวจของ IEEE Smart Cities พบว่า ภายในปี 2520 ประชากรครึ่งหนึ่งของเอเชียจะพักอาศัยในเมือง และภายในปี 2050 จำนวนประชากรในชุมชนเมืองจะมีการเพิ่มจาก 3.6 ล้านล้าน เป็น 6.3 ล้านล้านคน นั่นหมายถึงการเปลี่ยนของวิถีชีวิตของประชากรในโลกนี้ในอีกไม่นานนี้ ทำให้เมืองในอนาคตอันใกล้จะเป็นชุมชนที่เป็นศูนย์รวมของการธุรกิจ การค้าและการเชื่อมสัมพันธไมตรีทางสังคม การสร้างชุมชนเมืองจะขยายอาณาเขตใหญ่ขึ้น ประชากรจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเมืองเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยทำให้การดำเนินชีวิตของประชากรในชุมชนเมืองเป็นไปอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ จึงเป็นที่มาของคำว่า Smart City
Smart City ควรเป็นเมืองที่มีการนำเทคโนโลยี การปกครองและการอยู่ร่วมกันทางสังคมมารวมกันได้อย่างกลมกลืนโดยมีคุณลักษณะพิเศษ ได้แก่ Smart Economy, Smart Mobility, Smart Environment, Smart People, Smart Living, และ Smart Governance ดังนั้น การสร้าง Smart City ที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องสร้างบนรากฐานเทคโนโลยีดังต่อไปนี้ เช่น Autonomous Cars, Intelligent Building, LED Lighting, Facial Recognition, Integrated transportation, Unmanned Ariel Vehicle (UAV) เป็นต้น
ในบรรดาเทคโนโลยีต่างๆ ที่ควรจับตามองใน Smart City ข้างต้น จะมีส่วนของรถไร้คนขับ (Autonomous Cars) การเชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี Cellular และ GPS และ อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีใน Smart City มักเกิดจากความต้องการของประชากรที่พักอาศัยในการรับบริการบางอย่างๆรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในมุมมองนี้ UAV จะมีขีดความสามารถในการตอบรับความต้องการได้อย่างมหาศาล ในโลกปัจจุบัน ได้มีการนำ UAV มาใช้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากร เช่น การนำ UAV บินเข้าสำรวจสถานที่เกิดอุบัติเหตุ หรือ วินาศภัย การนำโดรนสำรวจเพื่อการช่วยชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในสถานที่อันตราย และการควบคุมกำกับการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น
เทคโนโลยีที่เราเห็นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารข้อมูลระหว่างอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV (Connected UAVs) และความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous) จะทำให้เราได้เริ่มเห็น UAV ทำงานแทนแรงงานคนในเร็วๆ วันนี้ และด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้การสร้างกฎระเบียบในการบังคับและใช้ UAV ต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาดเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกของประชากรและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย