กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีกำลังแรงงานมากกว่า 2 ล้านคน เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการขนส่ง การผลิตสินค้า หรือการบริการของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการคนทำงานที่มีทักษะฝีมือและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการขนส่ง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 แห่ง ระดมความคิดเห็น เพื่อวางแผนการพัฒนากำลังคน ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในปี 2561 โดยในด้านโลจิสติกส์ กพร.ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคนทำงานป้อนสู่ตลาดจำนวน 11,570 คน ได้มอบหมายให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงานทั่วประเทศเร่งดำเนินการฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง
ในการพัฒนาฝีมือแรงงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (GMS-ASEAN) กพร. มีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 2 สาขาโลจิสติกส์และสาขาท่องเที่ยวและบริการ (นานาชาติเชียงแสน) ดำเนินการ ซึ่งมีการฝึกอบรมในสาขาผู้ปฎิบัติการขนส่งสินค้า ผู้ขับยานพาหนะขนส่ง/รถหัวลาก ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า ผู้ปฎิบัติด้านการจัดซื้อ พนักงานขับรถโฟล์คลิฟ ช่างเทคนิคและซ่อมบำรุง ผู้ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสานเทศไอที เป็นต้น ตั้งเป้าพัฒนาเฉพาะที่สถาบันฯ เชียงแสน 2,700 คน ทั้งแรงงานไทยและเพื่อนบ้านที่ประกอบธุรกิจด้านโลจิสติกส์ภาคการบริการ ท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นางสาวอาภากร ว่องเขตกร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ ฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคเหนือตอนบน 2 สาขาโลจิสติกส์และสาขาท่องเที่ยวและบริการ (นานาชาติเชียงแสน) กล่าวว่าได้เป็นประธานมอบวุฒิบัตรให้กับกลุ่มนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายจำนวน 65 คน จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมโครงการศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จำนวน 2 สาขา ได้แก่ 1.สาขาเทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 2.สาขาเทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย ข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้งานด้านวิชาการ สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยฯ ให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น และเป็นการผลักดันให้สถาบันฯ เชียงแสน เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาคนทำงานในสาขานี้ตามนโยบายของกพร. ด้วย
ด้าน น.ส.จันทกานต์ เสียงเลิศ ผู้เข้าฝึกอบรม สาขาเทคนิคการจัดการคลังสินค้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า จากการฝึกอบรม ตนได้รับความรู้ด้านการจัดการคลังสินค้า มีความเข้าใจในระบบคลังสินค้ามากขึ้น และจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต เช่นเดียวกับ นายลภณวิช สมควร ผู้เข้าฝึกอบรม สาขา เทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัย ได้กล่าวขอบคุณสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่เพิ่มความรู้และทักษะด้านการขับรถยกสินค้า ให้กับตนและเพื่อน ซึ่งตนได้ฝึกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติครบตามเกณฑ์กำหนด และจะนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในอนาคตแน่นอน