กทม.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการจัดการคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 14, 2000 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.43)เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบฯ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “โครงการจัดการคุณภาพอากาศ ในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งการประชุมครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยกองควบคุมและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) และบริษัท Parsons International Limited ได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีกำหนดการประชุมดังนี้ วันที่ 13 พ.ย. 43 ประชุมเรื่อง “การตรวจสภาพและบำรุงรักษารถยนต์” วันที่ 15 พ.ย. 43 ประชุมเรื่อง “การปรับปรุงสภาพรถยนต์โดยสาร” วันที่ 16 พ.ย. 43 ประชุมเรื่อง “การจัดระบบการจราจรขนส่ง” โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กองบังคับการตำรวจจราจรและหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมประชุม
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ตนขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางแรก คือ การให้กฎหมายกำหนดให้รถจักรยานยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในร้านทั่วไปเป็นประเภท 4 จังหวะ แล้วจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งสำหรับซื้อรถจักรยานยนต์เก่าประเภท 2 จังหวะราคาตามสภาพ เพื่อให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เก่านำเงินดังกล่าวไปดาวน์รถจักรยานยนต์ ประเภท 4 จังหวะ ซึ่งก่อมลพิษน้อยกว่ามาใช้ สำหรับรถประเภท 2 จังหวะที่รับซื้อมาก็จะนำไปเข้าโรงงานปรับแต่งเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีแล้วนำไปขายยังต่างจังหวัด เนื่องจากอากาศในต่างจังหวัดสามารถถ่ายเทได้ดี ไม่มีตึกสูงจำนวนมากบังลมเช่นในกทม. ทั้งนี้ประชาชนในต่างจังหวัดจะได้ซื้อรถจักรยานยนต์สภาพดีราคาถูก และกทม.ก็จะได้เงินคืนมาเป็นงบประมาณหมุนเวียนสำหรับดำเนินโครงการนี้ต่อไป แนวทางที่ 2 คือการติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษให้กับรถควันดำ — ควันขาว ซึ่งกทม.ได้เคยเปิดให้บริษัทเอกชนทดลองติดตั้งอุปกรณ์ Power Jet ที่ท่อไอเสียรถยนต์เครื่องดีเซล จำนวน 70 คัน โดยวัดปริมาณมลพิษจากท่อไอเสียก่อนและหลังการติดตั้ง ปรากฏว่าสามารถลดมลพิษได้ผลจริง เครื่องยนต์แน่นขึ้น และประหยัดน้ำมันได้ระดับหนึ่ง ขณะนี้ได้มีผู้เสนออุปกรณ์ลดมลพิษในลักษณะเดียวกันนี้เข้ามา 4 ราย ตนจึงมีแนวความคิดอีกว่าในการออกใบสั่งจับ — ปรับรถควันดำ — ควันขาวนั้น ควรจะเป็นใบสั่ง “ให้ไปซ่อม” และให้โอกาสเจ้าของรถเลือกติดตั้งอุปกรณ์ลดมลพิษชนิดใดก็ได้ แล้วเข้ารับการตรวจวัดมลพิษจากท่อไอเสียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับใบรับรองผลแทนที่จะสั่งปรับ 5,000 บาท เช่นที่ผ่านมา สำหรับแนวทางที่ 3 ก็คือ การเสนอขอให้รัฐบาลงดเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ 3 ชนิด ซึ่งจะนำมาประกอบเป็นรถโดยสารประจำทางแบบครีม- แดง ที่มีปริมาณมลพิษต่ำ อุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิด คือ เครื่องยนต์ยูโรวัน, เกียร์บ็อกซ์ และแชสซี หรือโครงคานช่วงล่างของรถโดยสารประจำทาง หากสามารถนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียภาษี ประเทศไทยก็จะสามารถประกอบรถโดยสารได้เองโดยใช้ต้นทุนประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สูงเกินไป สำหรับรถยนต์โดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศ อัตราค่าโดยสาร 3.50 บาท
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า แนวความคิดในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 3 ประการ รวมทั้งข้อมูลอันเป็นประโยชน์และมาตรการแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานอื่นที่เข้าร่วมได้เสนอในการประชุมครั้งนี้นั้น ทางบริษัท Parson International Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ และศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาท้องถิ่น จะรวบรวมทำเป็นรายงานการศึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานครต่อไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ