กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กระทรวงพลังงาน
พลังงาน จ.เพชรบุรี ชู กลุ่มเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ สร้างชุมชนต้นแบบพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ช่วยชุมชนบ้านป่าเด็ง ผลิตพลังงานใช้เอง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน และคว้ารางวัล ""สุดยอดคนพลังงาน"" รวมทั้งรางวัล ASEAN Energy Awards
สำนักงานพลังงานจังหวัดเพชรบุรี กระทรวงพลังงาน พาสื่อมวลชนเยี่ยมชม กลุ่มวิสาหกิจเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ชู การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ของเสียครัวเรือน เศษไม้ และการผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้แทนก๊าซ LPG ช่วยชุมชนป่าเด็งผลิตพลังงานใช้เอง ลดรายจ่ายสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงาน จนคว้ารางวัลระดับประเทศ และในระดับสากล
นายเฉลิมพร ทองประดู่ รักษาการแทนพลังงานจังหวัดเพชรบุรี กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้นำสื่อมวลชนเพื่อเยี่ยม โครงการกลุ่มวิสาหกิจเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้าน ในชุมชนป่าเด็ง ซึ่งได้น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการใช้พลังงานทดแทน จากพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ จนทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่สามารถมีไฟฟ้าใช้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ และยังเป็นชุมชนที่ผลิตพลังงานได้ด้วยตนเอง จนเป็นศูนย์เรียนรู้สำคัญด้านพลังงานชุมชน ของกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ จากความตั้งใจอย่างจริงจังของชาวบ้าน ทำให้เครือข่ายฯ สามารถคว้ารางวัลสำคัญ ๆ เช่น รางวัลสุดยอดคนพลังงาน ประจำปี 2560 สาขาโครงการพลังงานชุมชนแบบมีส่วนร่วมยอดเยี่ยม ระดับภาค รางวัล Thailand Energy Awards ในประเภท โครงการผลิตไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมทั้งรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2017 ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่น ได้แก่
1.การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ของเสีย ขยะจากครัวเรือน เศษไม้ ฯลฯ ผลิตไฟฟ้าแทนเครื่องปั่นไฟดีเซล โดยออกแบบระบบให้เหมาะสมกับวัตถุดิบและความต้องการใช้พลังงาน ช่วยลดการใช้น้ำมันกว่า 100 ครัวเรือน ได้มากกว่าปีละ 18,000 ลิตร หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี มีต้นทุนผลิตไฟฟ้า 13.8 บาท/kWh ซึ่งต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กจากน้ำมัน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
2.การผลิตก๊าซชีวภาพใช้แทนก๊าซหุงต้ม เริ่มติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพตั้งแต่ปี 2553 โดยช่วงแรกเป็นแบบถังพลาสติกครอบลอย 200 และ 500 ลิตร และพัฒนามาเป็นถุงบอลลูนซึ่งมีพื้นที่กักเก็บก๊าซชีวภาพได้มากขึ้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังสามารถต่อยอดนำก๊าซชีวภาพไปใช้งานร่วมกับระบบแก๊สซิไฟเออร์ เพื่อใช้กับเครื่องปั่นไฟได้ด้วย ซึ่งชุมชนเรียกการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสานนี้ว่า "ชีวพลัส" (ชีวภาพ+ชีวมวล) การผลิตก๊าซชีวภาพของชุมชนป่าเด็งของชุมชนป่าเด็ง ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 57 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบันกลุ่ม "เครือข่ายรวมใจ ตามรอยพ่อ" ได้ช่วยเหลือในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ให้สามารถต่อยอดชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง เกิดการพึ่งพาตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็จะเป็นไปในรูปแบบ "ป่าเด็งโมเดล" สไตล์ คือคนในพื้นที่ต้องทำได้จริง ๆ เน้นการปฎิบัติจริงการเรียนรู้ที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยตนเองคือต้นแบบที่เป็นรูปธรรมที่สุด นี่คือเรื่องราวน่าประทับใจของชาวบ้านแห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยความทุ่มเท ความเอาใจใส่ และความร่วมมือรวมใจ เพื่อเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตามหลักการใช้ชีวิตที่พอเพียง