กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--บลจ.กสิกรไทย
นายนาวิน อินทรสมบัติ Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้น บลจ.กสิกรไทยจึงได้ปรับมุมมองการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเป็น Overweight เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคที่เติบโตแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ทยอยออกมาค่อนข้างดี และคาดการณ์ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนน่าจะเติบโตได้สูงกว่า 10% ในปีนี้ รวมถึงผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทำให้การเมืองญี่ปุ่นมีเสถียรภาพมากขึ้นและมีความต่อเนื่องของนโยบายบริหารประเทศ จึงช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้มีความน่าสนใจเข้าลงทุน
""ตั้งแต่ต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นโดดเด่น โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 3 พ.ย. 2560 ดัชนี Topix ปรับตัวขึ้นกว่า 18% โดยปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปี ขณะที่เงินเฟ้อแม้ยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2% แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี และการที่นายอาเบะชนะการเลือกตั้งตามคาด ช่วยหนุนเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงมตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนี้ระดับราคาหุ้นญี่ปุ่นปัจจุบันยังซื้อขายอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (Forward P/E) ของหุ้นญี่ปุ่นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15.9 เท่า ถูกกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 18.4 เท่า และยังถูกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา จึงทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจเข้าลงทุนเพิ่มขึ้น โดยบลจ.กสิกรไทยมีกองทุนแนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิดเค ญี่ปุ่น หุ้นทุน (K-JP) ที่เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นที่มีผลประกอบการดีและธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง"" นายนาวินกล่าว
กองทุน K-JP มีนโยบายลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นผ่านกองทุนหลัก Schroder International Selection Fund Japanese Equity, Class A Acc ซึ่งบริหารจัดการโดย Schroder Investment Management (Luxembourg) S.A. บริษัทจัดการลงทุนชั้นนำระดับโลก ปัจจุบันกองทุนหลักได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ด้วยระดับราคาที่น่าสนใจ และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากผลกำไรที่ดี ขณะที่มีการขายทำกำไรหุ้นเติบโตขนาดเล็กที่มีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้กองทุนหลักมุ่งเน้นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นญี่ปุ่น โดยพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ต่ำ และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้านผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน K-JP ณ วันที่ 31 ต.ค. 2560 มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสม่ำเสมอโดยสามารถเอาชนะเกณฑ์มาตรฐานในทุกช่วงผลการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ต้นปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 19.54% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 18.04%, ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน ให้ผลตอบแทนที่ 16.99% เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 15.15%, ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี ให้ผลตอบแทนที่ 27.93% ต่อปี เอาชนะเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอยู่ที่ 26.88% ต่อปี (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2560)
นอกจากนี้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถจับจังหวะซื้อขายทำกำไรตามการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิง บลจ.กสิกรไทยยังมีกองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น (K-JPX) ที่ลงทุนในกองทุนหลัก TOPIX Exchange Traded Fund ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นตามดัชนี Topix (ดัชนีอ้างอิง) จึงเป็นกองทุนที่เหมาะกับผู้ต้องการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น และมุ่งหวังสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ส่วนผู้ลงทุนที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี พร้อมโอกาสเติบโตไปกับหุ้นญี่ปุ่นในระยะยาว บลจ.กสิกรไทยขอแนะนำกองทุนเปิดเค เจแปน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KJPRMF) ซึ่งจะมีนโยบายลงทุนเดียวกันกับกองทุน K-JP เพื่อเสนอเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อสะสมเงินลงทุนไว้ในยามเกษียณ
ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุน K-JP, กองทุน K-JPX และกองทุน KJPRMF สามารถลงทุนเริ่มต้นเพียง 500 บาท โดยขอรับหนังสือชี้ชวนและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือสอบถาม KAsset Contact Center 0 2673 3888
กองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
3เดือน 6 เดือน 1 ปี(ต่อปี) 3 ปี (ต่อปี) ตั้งแต่ต้นปี
กองทุนK-JP 9.95% 16.99% 27.93% N/A 19.54%
Benchmark 9.28% 15.15% 26.88% 12.30% 18.04%
ที่มา: บลจ.กสิกรไทย วันที่ 31 ต.ค. 2560
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนได้ที่ www.kasikornasset.com หรือ บลจ.กสิกรไทย หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือขอข้อมูลดังกล่าวจากบุคคลที่เสนอขายกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนมิได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนจึงอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้