กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำหรับแนวทางการส่งเสริมการออมทั้งระบบแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. การจัดทำแผนการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแห่งชาติ (วาระแห่งชาติ) โดยเสนอร่างแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงิน พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานเรื่องการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินระดับประเทศอย่างบูรณาการ และทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างแผนการให้ความรู้ทางการเงินฯ มีเป้าหมาย 2 ด้าน ได้แก่ (1) เพื่อให้คนไทยมีการตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของ การบริหารการเงินส่วนบุคคล โดยกำหนดให้การให้ความรู้ทางการเงินเป็นวาระแห่งชาติ และมีการรณรงค์ระดับชาติ (National Campaign) เพื่อให้การดำเนินนโยบายการให้ความรู้ทางการเงินของทุกภาคส่วนมีการบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก และ (2) เพื่อให้คนไทยมีความรู้ความสามารถและมีวินัยทางการเงิน สามารถวางแผนและบริหารจัดการการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานต่าง ๆ มีการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินผ่านการฝึกอบรมและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาสื่อและสาระความรู้ทางการเงินให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน (Gen Z) กลุ่มนักศึกษาและคนเริ่มทำงาน (Gen Y) กลุ่มผู้ที่ทำงานในภาคเอกชน กลุ่มผู้ที่ทำงานในภาครัฐ กลุ่มประชาชนฐานราก (กลุ่มแรงงานนอกระบบ) กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ว่างงานและประชาชนทั่วไป
2. การสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันหรือองค์กรการออมที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในระบบ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสหกรณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกของสหกรณ์ โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันพิจารณาแนวทางการกำกับดูแล ในขณะที่องค์กรการเงินในระดับชุมชนจะมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืน รวมทั้งกำกับดูแลให้สามารถเป็นเสาหลักทางการเงินของประชาชนฐานราก
3. การเพิ่มผลิตภัณฑ์การออมและมาตรการลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย ภาครัฐควรมีมาตรการผลักดันให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยเพื่อให้มีเงินเหลือในการอดออม ในขณะเดียวกันควรมีการออกผลิตภัณฑ์การออมใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การออมแบบระยะยาวเพื่อจูงใจให้ประชาชนมีการออมเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินใช้ในยามจำเป็นและในยามชราภาพได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินในอีกทางหนึ่ง
4. การเติมเต็มระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ กระทรวงการคลังเห็นควรปรับปรุงระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น การเร่งรัดการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... การปรับปรุงกฎหมายของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น และการปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบมีการออมเงินผ่านกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุโดยเฉพาะกองทุนการออมแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น เช่น การเน้นการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น การเพิ่มกลไกในการอำนวยความสะดวกในการรับสมัครสมาชิกและการชำระเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการออมดังกล่าวจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และเห็นถึงความสำคัญของการบริหารการเงินเพื่อให้รู้จักอดออมและใช้จ่ายอย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สินและมีเงินออมเพื่อใช้หลังเกษียณอายุอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการออมในระดับชุมชนเพื่อเป็นเสาหลักทางการเงินให้กับประชาชนในระดับฐานราก รวมทั้งทำให้ระบบการออมเพื่อการชราภาพของประเทศไทยมีความครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้อย่างแท้จริง และทำให้คนไทยทุกคนสามารถก้าวสู่วัยเกษียณอายุโดยมีหลักประกันความมั่นคงที่เพียงพอ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3656
โทรสาร 0 2273 9987