กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
บีโอไอจับมือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ หรือ BTMU จากประเทศญี่ปุ่น ย้ำสัมพันธ์ภาครัฐ-เอกชน สนับสนุนการลงทุนของ 2 ประเทศ ประเดิมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแล้วกว่า 200 บริษัท ชูความพร้อมเดินหน้าประเทศไทย 4.0 และ อีอีซี กระตุ้นลงทุนไทยขยายตัว
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ) หรือ BTMU จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้เติบโตมากยิ่งขึ้น
เนื้อหาสำคัญของเอ็มโอยู ครอบคลุมความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ที่จะช่วยเหลือให้คำแนะนำ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย และสนับสนุนนักลงทุนไทยในการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการจัดกิจกรรมสัมมนา กิจกรรมชักจูงการลงทุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งภายในงานเอ็มโอยูครั้งนี้ ทั้ง 2 ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมพบปะระหว่างลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่น นักลงทุนจากกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และนักลงทุนไทยรวมจำนวนกว่า 200 บริษัท ทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจมากกว่า 400 คู่ อาทิ กลุ่มกิจการอสังหาริมทรัพย์ กิจการเวชภัณฑ์ และกิจการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
""การลงนามในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจาก 2 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจให้แก่นักลงทุนไทยและญี่ปุ่นทั้งรายใหม่และนักลงทุนที่ลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทยให้มีข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินธุรกิจ"" นางสาวดวงใจ กล่าว
นางสาวดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนที่แน่นแฟ้น กันมายาวนาน โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถาบันการเงิน องค์กรภาครัฐ และหอการค้า เป็นต้น ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย จนส่งผลให้การลงทุนจากญี่ปุ่นครองอันดับ 1 มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามประเทศไทยอยู่ระหว่างการผลักดันและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเดินหน้าตามนโยบาย ""ประเทศไทย 4.0"" ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการส่งเสริมการลงทุน ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มาตรการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งล้วนเป็นการสร้างความพร้อมของไทย ในการเป็นฐานการผลิตและการส่งออกสู่ตลาดอาเซียน นโยบายดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุน จากต่างประเทศรวมถึงญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นมีศักยภาพและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว