กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.44 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ได้มีผู้ชุมนุมจากกลุ่มแม่บ้านศูนย์รวมพัฒนาชุมชน, กลุ่มพัฒนาชุมชนใต้สะพาน, เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนา , เครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้ — ตะวันตก , เครือข่ายพระราม 3 , เครือข่ายวัฒนาสามัคคี มายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยเนื้อหาสาระในข้อเรียกร้องสรุปได้ ดังนี้กรุงเทพมหานครมีนโยบายจะพิจารณาตัดลดงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่างที่ให้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1. อาหารกลางวัน จากเดิมคนละ 10 บาท ลดเหลือคนละ 7.50 บาท 2. ชุดนักเรียนเดิมให้ฟรี คนละ 2 ชุด จะลดเหลือ 1 ชุด 3. แบบเรียนเดิมให้ฟรีทุกคน ลดเหลือ 30 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด 4. อุปกรณ์การเรียนยังคงสนับสนุน 55 บาท/คน เช่นเดิม 5. อาหารเสริม (นม) ฟรีทุกคนเช่นเดิม ในการนี้ ผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเสนอให้กรุงเทพมหานครคงนโยบายสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่าง โดยไม่มีการตัดลดงบประมาณ ส่วนรายจ่ายอื่น ๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บนอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการศึกษา 5 อย่าง เช่น ค่าประกันอุบัติเหตุหมู่ ค่าแฟ้มสะสมงาน เป็นต้น ขอให้กทม.กำหนดหลักเกณฑ์กลาง ไม่ให้เกิดปัญหาบางโรงเรียนเก็บแพงกว่าโรงเรียนอื่น นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบดูแลกรณีที่โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยไม่ออกใบเสร็จด้วย
ในการนี้ ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวันชัย อมรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ได้เชิญแกนนำผู้ชุมนุม เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเมื่อเวลา 12.30 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกทม. ซึ่งก็ได้ข้อสรุปเป็นที่พอใจของกลุ่มผู้ชุมนุม ภายหลังการประชุมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า งบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่าง นั้นเป็นงบประมาณที่ได้ตั้งไว้แล้วสำหรับปีงบประมาณ 2544 ซึ่งจะใช้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.44 โดยจะไม่มีการตัดลดงบประมาณในส่วนนี้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นเมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียนที่ 2 ก็จะมีการสำรวจข้อมูลความจำเป็นที่แท้จริง และให้การสนับสนุนตามความจำเป็น เนื่องจากผู้ปกครองบางคน หรือชุมชนบางชุมชน สามารถที่จะช่วยเหลือตนเอง หรือให้การสนับสนุนโรงเรียนได้ ส่วนผู้ปกครองที่ประสบความเดือดร้อนเนื่องจากรายได้น้อย จำนวนบุตรมาก หรือมีบุคคลในครอบครัวที่ต้องอุปการะ ทางกทม.ก็จะนำข้อมูลความจำเป็นดังกล่าวมาพิจารณาให้ความสนับสนุนตามเดิมต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า หากลดงบประมาณที่ต้องให้แก่เด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดังกล่าวแล้ว กทม.ก็จะมีเงินงบประมาณเหลือพอที่จะนำไปพัฒนาการศึกษาในด้านอื่น เช่น การปรับปรุงอาคารเรียน และการขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบัน อาคารเรียนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครหลายแห่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก บางแห่งมีอายุ 30-40 ปี อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักเรียนได้ จึงสมควรดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร หรือ ก่อสร้างใหม่ ซึ่งก็ต้องสร้างทั้งอาคารใหม่ และอาคารเรียนชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้บางโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เช่น โรงเรียนในเขตมีนบุรี เขตหนองจอก เมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็มีความต้องการศึกษาต่อในระดับมัธยมต้น และระดับมัธยมปลาย ซึ่งนักเรียนต้องเดินทางไกลไปเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่ นักเรียนบางคนก็ไปเรียนได้เพียงปีเดียว เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ กทม.จึงต้องการขยายการศึกษาของโรงเรียนกทม.ให้ถึงระดับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (ม.3) และให้ถึงระดับ ม.6 ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนที่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียนที่นักเรียนจะไปเรียนต่อได้ตั้งอยู่ใกล้เคียง เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนสังกัดกทม.
ด้านนายวันชัย อมรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณด้านการศึกษาจากรัฐบาล 3,673 ล้านบาท และกทม.สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 2,151 ล้านบาท สำหรับนโยบายสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่างนั้น รัฐบาลสนับสนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน คนละ 6 บาท โดยให้เพียง 30 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด (320,000 คน) กทม.ได้สนับสนุนเพิ่มเติมให้เป็นคนละ 10 บาท และสนับสนุนให้นักเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันครบทุกคน ส่วนเครื่องแบบนักเรียนคนละ 2 ชุดนั้น รัฐบาลสนับสนุน 30 % ของจำนวนนักเรียน ไม่รวมนักเรียนชั้นอนุบาล แต่กทม.เพิ่มให้ครบทุกคน รวมทั้งชั้นอนุบาลด้วย สำหรับแบบเรียน รัฐบาลให้นักเรียนระดับประถมศึกษา คนละ 110 บาท กทม.สนับสนุนเพิ่มเติมให้อีก 190 บาท และให้ชั้นอนุบาล คนละ 200 บาท อุปกรณ์การเรียน (สมุด — ดินสอ) รัฐบาลให้คนละ 55 บาท 30 % ของนักเรียน ส่วนอีก 70 % นั้น กทม.ได้สนับสนุนให้ครบทุกคน และอาหารเสริม (นม) รัฐบาลให้เฉพาะชั้นอนุบาล และ ป.1-ป.4 คนละ 5 บาท/วัน กทม.ได้สนับสนุนเพิ่มเติมให้เด็กนักเรียนชั้น ป.5 — ป.6 ได้มีนมดื่มเหมือนชั้นอื่น ๆ จากข้อมูลดังกล่าว กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนด้านการศึกษามากกว่าจังหวัดอื่นอยู่แล้ว ส่วนการพิจารณาตัดลดงบประมาณนั้น จะพิจารณาตามความจำเป็น เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า สำหรับนักเรียนที่ผู้ปกครองไม่เดือดร้อน ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนตามเกณฑ์ของรัฐบาลต่อไป
อนึ่ง ในการประชุมครั้งนี้ แกนนำผู้ชุมนุมได้เสนอให้กทม.เกลี่ยงบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือด้านการศึกษา และเสนอของบประมาณด้านการศึกษาที่จำเป็นเพิ่มเติมจากรัฐบาลเป็นเรื่อง ๆ ไป ตลอดจนขอให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องที่จะมีผลกระทบกับนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งกทม.ก็ได้รับข้อเสนอต่าง ๆ ไว้พิจารณาทั้งหมด รวมทั้งได้มีการวิทยุสื่อสารให้ทุกสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนในสังกัดเขตเข้าใจตรงกันว่า การสนับสนุนด้านการศึกษาฟรี 5 อย่างนั้น ในปีงบประมาณ 2544 นี้ ยังคงสนับสนุนเหมือนเดิมครบ 100 %--จบ--
-นห-