กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
ผู้อุทิศตนทำงานด้านเอชไอวีและสุขภาพชุมชนกว่า 300 ท่านจากทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเดินทางมาร่วมงานประชุมครั้งสำคัญ ณ กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคนี้และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายในด้านเพศวิถี (Sexual Orientation) อัตลักษณ์ทางเพศ (Identity) และการแสดงออกทางเพศ (Expression) หรือที่เรียกรวมกันว่า SOGIE
งานประชุม RRRAP Summit ซึ่งย่อมาจาก Rights, Resources and Resilience Asia Pacific เป็นงานประชุม 5 วันที่จะจัดขึ้น ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน 2560 โดยจะประกอบไปด้วยงานประชุม 3 วันและงานสัมมนาของชุมชนและการวางแผนเชิงกลยุทธ์อีก 2 วัน งานประชุม RRRAP Summit นี้เป็นโครงการริเริ่มของมูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนทำงานด้าน HIV และ SOGIE ชั้นนำในภูมิภาคนี้ ซึ่งในปีนี้จะครบรอบ 10 ปีที่มูลนิธิแอ็พคอมดำเนินงานให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
คุณมิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอมกล่าว ถึงแม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะมีความคืบหน้าไปมากในการรับมือกับเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคนี้ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกินความควบคุมได้ในกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
""ผลกระทบของเชื้อเอชไอวีที่มีต่อกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและกลุ่มคนข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยนักวิจัยประมาณการว่ากลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในภูมิภาคนี้จะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 150,000 รายภายในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมดที่คาดการณ์ไว้"" คุณมิดไนท์กล่าว ""ประมาณ 1 ใน 3 ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ และจาการ์ต้า พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ในประเทศฟิลิปปินส์ กว่า 80% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย บางเมืองในประเทศอินเดีย พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และยังมีอีก 18 ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ถือว่าการรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย""
""ปัญหานี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ใหญ่มาก และสถานการณ์นี้ก็มีทีท่าว่าจะแย่ลงถ้าหากเราไม่ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐบาลภายในประเทศและจากชุมชนต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงความช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงจากผู้บริจาคและหน่วยงานในระดับสากล หากเราต้องการนำพาให้ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเข้าใกล้เป้าหมายสู่อนาคตที่ยั่งยืนในการเป็นภูมิภาคที่ปลอดจากเชื้อเอชไอวีและผู้คนเปิดใจยอมรับกลุ่มคนที่มีเพศภาวะและเพศวิถีหลากหลายทุกๆ กลุ่ม เราจะต้องค้นหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และนั่นคือเป้าหมายของงานประชุม RRRAP Summit ที่มูลนิธิแอ็พคอมจัดขึ้น""
นายเดเด้ โอเอโตโม (Dede Oetomo) ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำภูมิภาค (Regional Advisory Committee) มูลนิธิแอ็พคอม กล่าวว่า งานประชุม 5 วันนี้มีวาระการประชุมที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็น ""เราได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล สำนักพัฒนา องค์กรชุมชน และพันธมิตรในการจัดงานมากมาย เราได้คัดสรรหัวข้อโดยแบ่งออกเป็นการประชุมร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการอภิปรายกว่า 40 หัวข้อ ซึ่งจะทำให้เกิดการอภิปรายที่น่าลำบากใจสักเล็กน้อย แต่จะเป็นการอภิปรายที่เป็นประโยชน์ซึ่งในที่สุดแล้วจะมีส่วนช่วยผลักดันแผนงานองค์รวมในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้เราสามารถตอบสนองความต้องการและปัญหาเร่งด่วนที่ผู้เข้าร่วมประชุมยกประเด็นขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นยิ่งขึ้น""
การเผชิญหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางสังคมและการเมืองในภูมิภาคนี้เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่ง เช่นเดียวกับการพัฒนาวิธีการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องตามจุดประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือในระดับนานาชาติที่เปลี่ยนแปลงไป จุดโฟกัสอย่างกว้างๆ จะมุ่งประเด็นไปที่ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และกลุ่มคนข้ามเพศ แต่จะมีการอภิปรายย่อยที่เจาะประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงด้วย เช่น การใช้ยาเสพติด งานบริการทางเพศ สุขภาพจิต เยาวชน และผู้สูงอายุ
งานในครั้งนี้มีผู้ที่อุทิศตนทำงานด้านเอชไอวี สุขภาพ สิทธิ์ และชุมชนชั้นนำมากมายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมงาน รวมถึงทูตสันถวไมตรีอย่างเป็นทางการของมูลนิธิแอ็พคอม 5 ท่านด้วย ได้แก่
· ทูตสันถวไมตรีด้านเอชไอวี: Prasada Rao (ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวี/เอดส์ของสหประชาชาติในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและอดีตเลขาธิการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินเดีย)
· ทูตสันถวไมตรีด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT): Michael Kirby (นักกฎหมาย นักวิชาการ อดีตผู้พิพากษาศาลสูง ประเทศออสเตรเลีย และอดีตคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ)
· ทูตสันถวไมตรีด้านการวิจัย: ศาสตราจารย์ Adeeba Kamarulzaman (คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา และศาสตราจารย์ด้านโรคติดต่อ)
· ทูตสันถวไมตรีภาคพื้นแปซิฟิก: ฯพณฯ ท่าน Ratu Epeli Nailatikau (ทูตพิเศษของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำภาคพื้นแปซิฟิกและอดีตประธานาธิบดีประเทศฟิจิ)
· ทูตสันถวไมตรีชุมชน: John Raspado (มิสเตอร์ เกย์ เวิลด์ 2017, มิสเตอร์ เกย์ เวิลด์ ฟิลิปปินส์ 2017)
ทูตสันถวไมตรีทั้ง 5 ท่านนี้มีส่วนร่วมในการกำหนดวาระการประชุมและจะเข้าร่วมทั้งในการประชุมใหญ่ การประชุมย่อย และการอภิปรายต่างๆ ด้วย
เชิญรับชมวาระการประชุมได้ที่ www.apcom.org/RRRAP
ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุม RRRAP
· วันจันทร์ที่ 13 – วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560
· โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ
· งานประชุม RRRAP Summit: 13 – 15 พฤศจิกายน 2560 | 150 เหรียญสหรัฐ
· Community RRRAP: 16 – 17 พฤศจิกายน 2560 | 100 เหรียญสหรัฐ
· www.apcom.org/RRRAP