กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--โอกิลวี่ พับลิครีเลชั่นส์
เอสซีจี เคมิคอลส์ ร่วมกับจังหวัดระยอง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 1 (ระยอง) กลุ่มประมงพื้นบ้าน จังหวัดระยอง จัดงาน ""จิตอาสาสร้าง บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์"" ณ สวนสาธารณะแหลมเจริญ จ. ระยอง โดยมีจิตอาสาร่วมสร้างบ้านปลากว่า 500 คน ซึ่งบ้านปลาทั้งหมดจะส่งมอบให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน คืนความสมบูรณ์ให้กับทะเลชายฝั่งและให้ประมงพื้นบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้วางบ้านปลาหลังแรกในปี 2555 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 1,100 หลัง ในจังหวัดระยองและชลบุรี สามารถสร้างพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้กว่า 30 ตารางกิโลเมตร
โครงการ บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ เริ่มวางบ้านปลาครั้งแรกในปี 2555 จากการได้รับรู้ปัญหาของกลุ่มประมงพื้นบ้านในจังหวัดระยองว่า ปริมาณปลาและสัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของกลุ่มประมงพื้นบ้าน เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงได้หารือกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สบทช.) และได้ออกแบบบ้านปลาที่ทำมาจากท่อน้ำที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลิเอทีลีนเกรดพิเศษ PE 100 โดยเป็นท่อ PE 100 ที่เป็นของเหลือใช้จากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า ""โดยปกตินั้น ท่อ PE 100 เป็นท่อที่ใช้สำหรับงานประปาและท่อส่งก๊าซ ซึ่งผ่านการรับรองจากสถาบันชั้นนำในต่างประเทศว่า ไม่มีสารปนเปื้อน จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 50 ปี เหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับทำบ้านปลา และเมื่ออยู่ในทะเลจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปะการัง เพรียง และสัตว์ทะเลต่างๆ""
นายชลณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ""ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ลงบ้านปลาจำนวน 1,100 หลัง ในทะเลจังหวัดระยองและชลบุรี คิดเป็น 29 กลุ่มประมง และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 30 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 120 ชนิด และเป็นเสมือนคลังทรัพยากรในทะเลที่ชาวประมงสามารถทำมาหากินได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน""
นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ""บ้านปลา เอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มประมงพื้นบ้านอย่างมาก เห็นได้จากการขยายพื้นที่ไปในกลุ่มประมงพื้นบ้านถึง 29 กลุ่มทั้งในระยองและชลบุรี เนื่องจากได้สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่ใกล้ชายฝั่ง เป็นที่อยู่อาศัยให้สิ่งมีชีวิตวัยอ่อนในทะเล ทำให้บริเวณรอบๆ มีปลาเศรษฐกิจเข้ามาอยู่อาศัยอย่างชุกชุม และผลสัมฤทธิ์ที่ตามมาคือ เกิดจิตอนุรักษ์ในเครือข่ายกลุ่มประมง ที่มีข้อตกลงกันว่า จะไม่จับปลาในพื้นที่ที่วางบ้านปลา เพื่อให้พื้นที่นั้นเป็นเสมือนบ้าน ที่พักพิง ที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งจิตอนุรักษ์นี้จะส่งผลให้ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ กลุ่มประมงมีอาชีพมีรายได้ที่ยั่งยืน""
นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ""ความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยงานราชการท้องถิ่น เอสซีจี เคมิคอลส์ รวมถึงกลุ่มประมงและจิตอาสา ทำให้งานในวันนี้เป็นเหมือนพลังที่สำคัญที่ก่อให้เกิดสิ่งดีๆ แก่สังคมและเป็นแบบอย่างที่ดีที่จะส่งต่อพลังจิตอาสานี้ไปให้ผู้อื่นได้อย่างแน่นอน เห็นได้จากตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ให้ความสนใจในโครงการและร่วมสร้างบ้านปลาเป็นจำนวนมาก""
นายชลณัฐ กล่าวปิดท้ายว่า ""โครงการบ้านปลาของเอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และอุตสาหกรรม ในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลชายฝั่ง ช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านตามแนวชายฝั่งจังหวัดระยอง""
ในปีหน้า เอสซีจี เคมิคอลส์ มีแผนงานขยายโครงการบ้านปลาไปสู่จังหวัดจันทบุรีและตราดจำนวนอีก 1,000 หลัง เพื่อให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกทั้งหมด
32