กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 55.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 60.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· รายงาน Drilling Productivity ของ Energy Information Administration (EIA) ระบุว่าปริมาณการผลิต Shale oil เดือน ธ.ค. 60 จากแหล่ง Bakken เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5,600 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 50 ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และแหล่ง Permian เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 58,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 10 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 459 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล
· รายงานฉบับเดือน พ.ย. 60 ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 60 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 80,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่6.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 12
· รายงานฉบับเดือน พ.ย. 60 ของ IEA ผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC (Non-OPEC) ที่ไม่เข้าร่วมมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบที่โลกต้องการจากกลุ่ม OPEC (Call-on-OPEC) ในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 32.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าระดับการผลิตของกลุ่ม OPEC ในเดือน ต.ค.60 ที่ 32.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นถึงแม้กลุ่ม OPEC จะขยายระยะเวลามาตรการควบคุมการผลิตจนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 ตลาดน้ำมันดิบจะยังคงล้นตลาด (Oversupply) ราว 220,000 บาร์เรลต่อวัน
· IEA ปรับลดประมาณการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2560 และ 2561 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน ปี พ.ศ. 2560 ลดลง 60,000 บาร์เรลต่อวัน และปี พ.ศ. 2561 ลดลง 190,000 บาร์เรลต่อวัน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· ทั่วโลกวิตกว่าอาจเกิดสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน จากเหตุระเบิดของท่อขนส่งน้ำมันดิบ A-B (ปริมาณสูบถ่าย 230,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบาห์เรนเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 60 ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยบาห์เรนกล่าวว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีอิหร่านหนุนหลัง นอกจากนั้นมีข่าว นายSayyed Hassan Nasrallah ผู้นำกองกำลัง Hezbollah ซึ่งอิหร่านให้การสนับสนุนกล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียบีบให้ นาย Saad al-Hariri นายกรัฐมนตรีของเลบานอนลาออกจากตำแหน่งเท่ากับเป็นการประกาศศึกกับกองกำลัง Hezbollah
· สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC ขนาดใหญ่อันดับ 3 ในเดือน ต.ค. 60 ลดลงจากปีก่อน 0.4% มาอยู่ที่ 3.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในเดือน ต.ค. 60 ลดลง 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระดับต่ำสุดในรอบ 28 ปี เนื่องจากขาดแคลนการลงทุนเป็นเวลานาน
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 60 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 738 แท่น ทั้งนี้สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 พ.ย. 60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง 9 แท่น
· หน่วยงานศุลกากรเกาหลีใต้ รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.4% มาอยู่ที่ 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรวมช่วง 10เดือนแรกของปี พ.ศ. 2560 ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.8% อยู่ที่ 2.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICEที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ย. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 28,297 สัญญา มาอยู่ที่409,963 สัญญา สูงสุดตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 60 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก International Energy Agency (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ฟื้นตัวกว่า 2% หลังลดลงต่อเนื่อง 5 วัน โดยมีแรงสนับสนุน จากข่าวท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone (ปริมาณสูบถ่าย 590,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งหยุดดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 60 ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจาก U.S. Pipeline and Hazardous Materials Safety Administration (PHMSA) ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่าอาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาดในการกำจัดการปนเปื้อน เนื่องจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลมีปริมาณถึง 5,000 บาร์เรล นับเป็นเหตุรั่วไหลครั้งใหญ่สุดของปีนี้ เทียบเท่าเหตุการณ์ในเดือน ม.ค. ที่ท่อขนส่งน้ำมัน Seaway (ปริมาณสูบถ่าย 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบจากจุดส่งมอบ Cushing รัฐ Oklahoma มายังโรงกลั่นบริเวณอ่าวเม็กซิโก ทั้งนี้ท่อ Keystone เคยประสบเหตุรั่วไหลเมื่อเดือน เม.ย.59 เป็นปริมาณ 400 บาร์เรล และต้องใช้เวลากว่า 10 เดือนในการกำจัดการปนเปื้อน ผู้ค้ามองว่าหากท่อต้องหยุดดำเนินการเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ อาจส่งผลให้น้ำมันดิบส่งมอบที่เมือง Cushing รัฐ Oklahoma ขาดหายราว 2 ล้านบาร์เรล เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างท่อ Keystone XL(ปริมาณสูบถ่าย 830,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ทอดผ่านแหล่งน้ำสำคัญในมลรัฐ Nebraska ซึ่งทางการรัฐมีกำหนดอนุมัติก่อสร้างในวันนี้ อีกทั้งสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องลดการส่งออกเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหาย ล่าสุดอินเดียประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในเดือน ต.ค. 60 นำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯ ราว 110,000 บาร์เรลต่อวัน แทนที่น้ำมันดิบจากแอฟริกาตะวันตก เนื่องจากมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน และส่วนต่างราคาระหว่าง NYMEX WTI/ICE Brent ยังกว้างกว่า 6เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้น้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เป็นที่น่าสนใจ ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 54.5-57.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานปริมาณการผลิต น้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน3.7% มาอยู่ที่ 3.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 58) ประกอบกับ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก Petroleos Mexicanos (Pemex) มีแผนกลับมาดำเนินการโรงกลั่น Salina Cruz (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) โดยเริ่มเดินเครื่องบางส่วนตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลังหยุดซ่อมแซมจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 7ก.ย. 60 และ บริษัท PetroVietnam ของเวียดนามเผยโรงกลั่น Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) บริเวณตอนเหนือของประเทศ ก่อสร้างแล้วเสร็จ97.78% เมื่อสิ้น ต.ค. 60 และมีแผนเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 1/61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES)รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 950,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.61 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 11 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่นน้ำมัน Taranto (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Eni หยุดดำเนินการตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาจากระบบสายส่งไฟฟ้าถูกพายุตัดขาด และยังไม่มีกำหนดกลับมาดำเนินการ และ บริษัท Petrolimex ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน92 RON และ 95 RON ปริมาณชนิดละ 125,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 11-20 ธ.ค. 60 โดยระบุว่าต้องขนส่งจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย หรือท่าVan Phong ในเวียดนาม ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.5-76.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับลดลงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน ต.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน4.4% มาอยู่ที่ 4.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และโรงกลั่น Yunnan (กำลังการกลั่น 260,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Petrochina ส่งมอบน้ำมันสำเร็จรูปเที่ยวแรกผ่านท่อความยาว 251 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างโรงกลั่นและเมือง Mengzi ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลยูนานในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้โรงกลั่นดังกล่าวเริ่มทดสอบการทำงานตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. 60 แต่ประสบปัญหาในการส่งมอบทางรถไฟและรถบรรทุก ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้มายังเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2561 หลังเวียดนามยกเลิกภาษีนำเข้า Diesel และ Jet Fuel จากเกาหลีใต้ จากเดิม 5% มาเป็น 0% ตามข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ทวิภาคี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 61 อีกทั้งอุปสงค์น้ำมันทำความอบอุ่นในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นพยากรณ์ว่าพื้นที่ตอนบนของประเทศมีโอกาส 40% ที่อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ย. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 490,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.05 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ4 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Emirates General Petroleum Corp. (Emarat) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.001%S ปริมาณ 120,000บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 5-6 ธ.ค. 60 ขณะที่ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุด 11 พ.ย. 60 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล อยู่ที่8.6 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล