กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย
นายกฯ แจงปัญหายาง ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ต้องเข้าใจภาพรวมเหตุผลความจริงตรงกัน รัฐเน้นแก้ปัญหายั่งยืน ทั้งส่งเสริมชาวสวนยางทำอาชีพเสริม-เกษตรผสมผสาน หนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเดินหน้าธุรกิจแปรรูปยาง ส่งเสริมใช้ยางเป็นผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมากขึ้น คุม-ลดพื้นที่ปลูกยางให้เหมาะสม ร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางรายสำคัญของโลก รวมถึงมีการยางแห่งประเทศไทยบริหารจัดการยางของประเทศแบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพ วอนคิดใหม่ อดทน แก้ปัญหาร่วมกัน
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ถึงปัญหาราคายางและแนวทางการแก้ไขว่า การทำงานของรัฐบาล และ คสช. มุ่งเน้นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ และต้องดำเนินการเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ให้แก้ไขได้อย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา หลายปัญหารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไข ด้วยมาตรการระยะสั้น ทำควบคู่กับมาตรการระยะกลาง มาตรการระยะยาว เพื่อแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ไม่ให้เกิดซ้ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วันนี้ ต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผลบนข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงเหมือนอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ ให้เกิดความร่วมมือกัน วันนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราต้องคิดร่วมกัน ทำร่วมกันให้ได้ สำหรับปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ราคายางพาราตกต่ำ จำเป็นต้องเข้าใจในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในแนวทางที่จะร่วมมือกันได้
เรื่องที่ 1. ประเด็นราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ มีความเกี่ยวโยงกันมากมายกับสถานการณ์หลายอย่าง ที่สำคัญราคาน้ำมันในตลาดโลก จะสะท้อนต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์ ที่สามารถใช้ทดแทนยางธรรมชาติได้ เช่น ช่วงปี 2540 ถึง 2548 น้ำมันราคาแพง ทำให้ราคายางสังเคราะห์แพงตาม ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย หันไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้ายางสังเคราะห์ แต่เมื่อราคาน้ำมันลด ราคายางสังเคราะห์ลดตาม แต่ปริมาณการผลิตยางธรรมชาติกลับเพิ่มปริมาณ และเกินความต้องการของตลาด เพราะกลับไปใช้ยางสังเคราะห์ที่ราคาต่ำกว่า จึงส่งผลต่อราคายางธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
เรื่องที่ 2. ประเด็นปริมาณการผลิตยางพารา สืบเนื่องจากข้อแรก ช่วงปี 2554 ถึง 2558 ทิศทางของโลกลดการผลิตลง แต่ไทยผลิตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอดีต ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเดิมที่ทำให้ผลผลิตในช่วงปัจจุบันนี้มีจำนวนมากพอสมควร ทำให้เกิดความไม่สมดุลกัน ที่สำคัญเกษตรกรชาวสวนยางไทย จะปลูกยางเป็น "พืชเชิงเดี่ยว" เป็นส่วนมาก ทำให้เมื่อราคายางผันผวน จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนอย่างรุนแรง เหมือนเช่นในปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ในส่วนของประเทศอื่นนั้น เกษตรกรจะปลูก "พืชทางเลือก" เสริมควบคู่กับการปลูกยาง เช่น มาเลเซียในระยะ 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นมากขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ส่วนอินโดนีเซีย เป็นการทำเกษตรแบบยังชีพ ควบคู่ไปกับการทำประมง หรือทำอาชีพอื่นเสริมร่วมกับผลผลิตจากยางพารา เมื่อราคายางลดลงผู้ปลูกยางในประเทศเหล่านี้ ก็จะชะลอการกรีดยางแล้วหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อเป็นการหารายได้เข้ามาแทนไม่ใช่การกรีดยางเป็นอาชีพหลักเช่นเกษตรกรในประเทศไทย
เรื่องที่ 3. ประเด็นการใช้ยางพาราในประเทศน้อยลง เมื่อเทียบผลผลิตยางพาราของประเทศไทย เฉลี่ย 4.47 ล้านตัน มีการใช้ยางพาราในประเทศเพียง 0.60ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออก ซึ่งทำให้ราคายางพาราต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งแปรผันตามปริมาณความต้องการของประเทศผู้ใช้ยาง และผูกโยงกับราคาน้ำมัน เพิ่มความซับซ้อน จนไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ถือเป็นประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก มีพื้นที่กรีดยางพารารวมกัน 50.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 62.09 ของเนื้อที่กรีดยางพาราทั้งโลก มีผลผลิตรวม 8.56 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 63.27 ของผลผลิตโลกก็ตาม แต่อินโดนีเซีย ที่แม้จะมีการใช้ยางพาราในประเทศน้อยมากอย่างที่กล่าวไป การปลูกยางไม่ใช่รายได้หลัก ส่วนมาเลเซีย ได้สร้างสมดุลการใช้ยางพาราในประเทศ ให้ใกล้เคียงกับผลผลิตรวม ทั้งสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมัน และการปลูกพืชเชิงซ้อนอื่นๆ อีกด้วย เรื่องนี้เราต้องให้ความสำคัญ ต้องช่วยกันทำต่อไป
เรื่องที่ 4. ประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ปลูกยางพารา ในปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางราว 20 ล้านไร่ โดยเฉลี่ยอัตราผลผลิต ประมาณ 225 ถึง245 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่พื้นที่กรีดยาง ภาคเหนือให้ผลผลิตเฉลี่ยต่ำสุด คือ 143 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานให้ผลผลิตเพียง 185 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากอากาศ ปริมาณน้ำ และสภาพดิน ไม่เหมาะกับการปลูกยางพารา ที่ต้องการอากาศร้อนชื้น และฝนตกชุก เหมือนภาคใต้ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งปัญหาค่าขนส่งผลิตภัณฑ์ยางมาสู่ตลาดกลาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของเกษตรกรชาวสวนยางที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แนวทางการแก้ไขปัญหาของยางพาราเพื่อความยั่งยืน
1. ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริม ตามแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การปลูกพืชแซม เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ที่เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่นของตนเอง การทำปศุสัตว์ และประมง ควบคู่ไปกับการทำสวนยาง เพื่อให้มีรายได้ที่หลากหลาย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางแต่เพียงอย่างเดียว เช่น รัฐบาลนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สำหรับประกอบอาชีพเสริม เป็นต้น ที่ผ่านมามีชาวสวนยางประกอบอาชีพเสริมประมาณ 380,000 ราย และในปี 2560 มีชาวสวนยางหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้นกว่า 3,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมดที่โค่นยางในปีนี้ แต่ทั้งนี้ควรส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสานให้มากขึ้น แล้วรัฐบาลก็จะส่งเสริมเรื่องการตลาดควบคู่ไปด้วยเช่นกัน
2. สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน การปรับปรุงอาคาร การจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อจะพัฒนาศักยภาพในการส่งออกและแปรรูปยางในอนาคต
3. ส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นด้วย เช่น การสร้างถนน ลานกีฬา ถุงมือยาง และอื่นๆ เป็นต้น
4. ควบคุมและลดพื้นที่การปลูกยางพาราให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายลดพื้นที่ปลูกยางลงปีละ 4 แสนไร่ และปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ ปัจจุบันลดพื้นที่ปลูกได้ 1.19 ล้านไร่ ลดผลผลิตได้ 0.27 ล้านตัน ซึ่งพบว่ายังน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เกษตรกรทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก ควรส่งเสริมอาชีพอื่นให้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางในตลาดโลก ใกล้เคียงกับความต้องการ ทำให้ราคาไม่ตกต่ำมากนัก ทั้งนี้ จะเน้นการลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีปัญหาทั้งปริมาณน้ำ ระบบชลประทาน และการขนส่ง ที่ล้วนแต่มีต้นทุนสูง รวมไปถึงพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งมีกว่า 2 ล้านไร่ในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทางรัฐบาลกำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่เช่นกัน
5. จัดตั้ง การยางแห่งประเทศไทย ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้มีการยุบรวม 3หน่วยงาน ก็คือ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยาง เข้าด้วยกัน มีภารกิจในการจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการยางของประเทศแบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพ ขณะนี้เราก็เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานมา อาจจะมีหลายอย่าง ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง เพราะว่าวันนี้ เราต้องเอาภาคเอกชนมาร่วมด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนกันนั้น รัฐบาลได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ของ กยท. ตามที่มีการร้องเรียนแล้ว
6. ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ผ่านสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ มีมาตรการควบคุมอุปทานยาง ให้อนาคตมีปริมาณการผลิตยางพาราของแต่ละประเทศในปริมาณที่เหมาะสม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาเกิดจากประเทศไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก จึงมีมาตรการในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราของประเทศสมาชิก ซึ่งต้องหารือร่วมกัน บางครั้งอาจไม่เห็นชอบในทางเดียวกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
" อยากให้ทุกฝ่ายในห่วงโซ่ยางพาราไทย ได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ทุกคนได้อดทน เปลี่ยนแปลง ไว้ใจซึ่งกันและกัน มีหลักการและเหตุผล ไม่ว่าจะประท้วง หรือยื่นหนังสือต่างๆ ก็ตามขอให้ทำอย่างสงบ ไม่จำเป็นต้องมายืนที่กรุงเทพฯ สามารถยื่นที่พื้นที่ของท่านเองได้ เพราะจะส่งต่อมาให้รัฐบาลรับทราบอย่างแน่นอน ไม่อยากให้เสียเวลา และสิ้นเปลือง ที่สำคัญ ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจสำคัญที่สุด ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าทุกคนทำสวนยางอย่างเดียว เมื่อยางราคาไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดีตาม เพราะมีรายได้จากยางเพียงอย่างเดียว ต้องคิดใหม่ จะได้แก้ปัญหาได้ร่วมกัน ตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลก็ไม่มีข้อขัดแย้ง มีรายได้มากขึ้น ประชาชน เกษตรกรชาวสวนยาง หรือเกษตรกรอื่นๆ ก็ต้องทำเช่นเดียวกัน" พลเอกประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย