กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--เอเชีย-แปซิฟิก แอดเวอร์ไทซิ่ง
"เอพี แอดเฟส" เปิดตัวเป็นปีที่ 4 นำคนในแวดวงโฆษณา ทั่วภูมิภาค ร่วมลุ้นสุดยอดผลงานโฆษณาปี 2544 ณ เมืองชายทะเล "พัทยา"
คณะกรรมการดำเนินงานเทศกาลประกวดโฆษณาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเชีย-แปซิฟิก แอดเวอร์ไทซิ่ง เฟสติวัล (AP AdFest) เผยเตรียมพร้อมจัดประกวดผลงานสร้างสรรค์โฆษณา ประจำปี 2544 เป็นปีที่ 4 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมพัทยา โรงแรมรอยับ คลิฟฟ์ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2544 เปิดโอกาส "โปรดักชั่น เฮาส์" ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานบนพื้นที่พิเศษทีจัดไว้โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจในอนาคตเป็นปีแรก
นายวินิจ สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ผู้ริเริ่มโครงการประกวดโฆษณาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยถึงสาเหตุของการเลือกพัทยาเป็นสถานที่จัดงานในปีนี้ว่า "พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์และสีสันเฉพาะตัวคล้ายกับเมืองคานส์ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประกวดโฆษณาระดับโลก ด้วยบรรยากาศแบบสบาย ๆ ชายทะเล ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งชอปปิ้ง สถานบันเทิง และ ภัตตาคาร อีกทั้งยังสะดวกในการเดินทางเพราะใช้เวลาเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ซึ่งช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานไม่สูงเกินไป"
เอเชีย-แปซิฟิก แอดเวอร์ไทซิ่ง เฟสติวัล หรือ เอพี แอดเฟส เป็นงานมหกรรมด้านโฆษณาระดับภูมิภาคซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ส่วน ได้แก่ การประกวดผลงานโฆษณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การปราศรัยของนักคิดและวิทยากรด้านโฆษณา ตลอดจนการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักโฆษณา ครีเอทีฟ และนักการตลาดมืออาชีพจากทั่วทั้งภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับมาตรฐานงานโฆษณาในปัจจุบัน โดยเน้นมรดกและคุณค่าทางวัฒนธรรมในภูมิภาค เป็นเวทีพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติ ระหว่างบุคคลในแวดวงโฆษณาและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณา รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักโฆษณาฝ่ายครีเอทีฟระดับกลางขึ้นไปได้ชม
"มหกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมผลงานโฆษณาและความคิดสร้างสรรค์ชั้นเลิศเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ทั้งที่เป็นนักโฆษณาและนักการตลาด ได้ซึมซับประสบการณ์และสัมผัสกับชิ้นงานคุณภาพจากที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคอันเป็นการเปิดโลกทัศน์และขยายวิสัยทัศน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และที่สำคัญสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานประจำได้ อีกเรื่องที่น่ายินดีก็คือประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานถาวรเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับการประกวดโฆษณาระดับโลกซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคานส์ทุกปี ซึ่งนั่นหมายความว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นที่รู้จักแต่เพียงในกลุ่มของนักท่องเที่ยว แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มของนักโฆษณาและนักการตลาดด้วย" นายวินิจ กล่าว ผลงานที่เข้าประกวดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลงานสร้างโฆษณาบนแผ่นฟิล์ม (Film Entry) รวม 18 ประเภท ผลงานโฆษณาสิ่งพิมพ์ (Print Entry) รวม 18 ประเภท และผลงานโปสเตอร์และโฆษณากลางแจ้ง (Outdoor/Poster As) 1 ประเภท โดยผลงานแต่ละประเภทจะผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายประเทศ เพื่อรับรางวัลผลงานโฆษณายอดเยี่ยม รางวับประเภทเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง รวมทั้งสิ้น 118 รางวัล
"ตลอดระยะ 3 ปี ที่ผ่านมาของการจัดงาน ทุกปีจะมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจำนวนผู้เข้าชมงานเพิ่มขึ้น และแม้ว่าขณะนี้เรายังไม่ปิดรับสมัครผลงานจนกว่าจะถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แต่เราก็คาดว่าจะมีจำนวนผลงานส่งเข้าประกวดในปีนี้เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เรายังเชื่อว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานเพิ่มขึ้นด้วย" นายวินิจ กล่าวเสริม
ในปีนี้ บริษัท แพลนโนวา จำกัด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงาน โดยจุดเด่นที่แตกต่างของการจัดงานในปีนี้คือ การแบ่งพื้นที่สำหรับแสดงนิทรรศการเกี่ยวกัว "โปรดักชั่น เฮาส์" โดยคาดว่าจะมี โปรดักชั่น เฮาส์ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานประมาณ 30-40 แห่ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นผลงานและสามารถติดต่อให้ผลิตงานโฆษณาในอนาคตได้
สำหรับวิทยากรรับเชิญในการประกวดปีนี้ ได้แก่ มร.เดวิด โดรกา ครีเอทีฟชื่อดังจากบริษัทโฆษณา "ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ" สาขาลอนดอน, มร.โดนัลด์ กันน์ จาก "เดอะ กันน์ รีพอร์ท" ลอนดอนล มร.ริชาร์ด พินเดอร์ จาก ลีโอ เบอร์เนทท์ เอเชียแปซิฟิก ฮ่องกง, และ มร. นิค ซูเตอร์ จาก ลีโอ เบอร์เนทท์ สาขาซิดนีย์
"สิ่งที่ทางคณะกรรมการดำเนินงานฯ ต้องการเน้นก็คือ แม้ว่า "เอเชีย-แปซิฟิก แอดเวอร์ไทซิ่ง เฟสติวัล" จะจัดขึ้นโดยคนโฆษณาและเพื่อยกระดับโฆษณาภายในภูมิภาค แต่ไม่ได้เป็นงานสำหรับคนโฆษณาเท่านั้น นักการตลาดและบุคคลกรในวงการผลิตสื่อก็เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานโฆษณา โดยนักการตลาดเป็นผู้มอบหมายงานให้แก่เอเจนซี่โฆษณา ทั้งยังเป็นผู้กำหนดงบโฆษณา ส่วนผู้ผลิตสื่อเป็นผู้รังสรรค์ความคิดสร้างสรรค์ของนักโฆษณาให้เป็นภาพที่มองเห็น ดังนั้นงานนี้จึงเป็นโอกาสดีที่คนทั้งสองกลุ่มจะได้เห็นโฆษณาดี ๆ สำหรับนักการตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการผลิตงานที่ไม่เพียงสื่อสะท้อนแนวคิดของนักโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ยังได้มาตรฐานสากลด้วย " นายวินิจ กล่าวสรุป
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานเอเชีย-แปซิฟิก แอดเวอร์ไทซิ่ง เฟสติวัล และผลงานที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2543 ได้ ทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่โฮมเพจ http://www.asiapacificadfest.com-- จบ--
-นห-