กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พล.อ.อ.ดร.ประจินฯ รองนายกรัฐมนตรี สนับสนุนกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ส่งเสริมการใช้งานของประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล พร้อมดึง กศน. และสถาบันวิชาการทีโอที ร่วมจัดกิจกรรมพัฒนาวิทยากรแกนนำ 5 รุ่น 5 ภูมิภาค รวม 1,000 คน เพื่อขยายเครือข่ายสู่ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนทั้ง 24,700 หมู่บ้าน รวมกว่า 100,000 คน กระจายสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนต่ออีกไม่น้อยกว่า 1,000,000 คนทั่วประเทศ
พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธาน "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ" ระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลที่รวดเร็ว อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสิ่งที่รัฐบาลตั้งใจจะใช้เป็นเครื่องมือขยายโอกาสให้แก่ประชาชน ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงตลาด การขายของ การทำธุรกิจ ให้เท่าเทียมครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เพื่อสร้างการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยในปีนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเป้าหมายของการขยายโอกาสใน 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกล ไม่มีศักยภาพ เชิงเศรษฐกิจที่ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ต และมีจำนวนไม่น้อยที่มีสมาร์ทโฟนแต่ใช้เพียงแค่โทรออกกับรับสาย แม้วันนี้จะสามารถติดตั้งแล้วมากกว่า 80 % และมีรายงานจำนวน ผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 1.5 ล้านคน แต่เชื่อว่ายังมีชาวบ้าน ที่เป็นผู้สูงอายุ เกษตรกรรุ่นเก่า อีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้จัก และไม่สามารถเข้าถึงโอกาสดังกล่าว ดังนั้น ความร่วมมือของทั้ง 4 กระทรวง ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีและนับเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมกัน คิด วางแผน และร่วมทำงานในพื้นที่ตามบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้การใช้ประโยชน์ของโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้อย่างเต็มศักยภาพและชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้าน นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามความก้าวหน้าโครงการเน็ตประชารัฐในช่วงของการติดตั้งอุปกรณ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่า มีอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน แต่ยังไม่ได้ใช้งานในทุกกลุ่มอายุ อาชีพ เนื่องจากไม่ทราบว่าจะใช้อย่างไรและมีประโยชน์ กับตนเองอย่างไร การใช้งานส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มเยาวชนและวัยทำงาน ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ ที่ถูกต้อง พร้อมกับสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์และโทษของการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความเข้าใจด้านดิจิทัลในภาคประชาชนโดยเร็วเพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้งานอย่างทั่วถึง กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้ร่วมกับ 3 กระทรวงหลักข้างต้นที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ ในการวางกลไกขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐแก่ประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของคนในพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล และสร้างโอกาสจากการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" และจะมีการติดตามประเมินผล ทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืนต่อไป โดยได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ ภายใต้วัตถุประสงค์ 1) เพื่อสนับสนุนประชาชนให้เกิดการรับรู้ข้อมูลเน็ตประชารัฐที่ถูกต้อง และการใช้อินเทอร์เน็ตรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการใช้งานอย่างเหมาะสมกับกลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ 2) สร้างกลไก เครื่องมือ และเครือข่ายการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในพื้นที่ 3) ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4) ดำเนินการอื่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว
โดยกระทรวงดิจิทัลฯ จะทำหน้าที่ออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างการรับรู้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน พัฒนาวิทยากรแกนนำ ส่งเสริมสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ติดตาม ประเมิน จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ ด้านกระทรวงศึกษาธิการ จะสนับสนุนบุคลากร เข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นวิทยากรสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มผู้นำชุมชน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการรับรู้และการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในรูปแบบต่างๆ จัดให้มีสื่อความรู้อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีกลไกการสนับสนุน ติดตาม กำกับ ดูแล ส่งเสริมการสร้างการรับรู้ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และหมู่บ้าน โดยมีหน่วยงานในจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการจังหวัด ตลอดจนอำนวยการให้เกิดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ และสำนักนายกรัฐมนตรี จะส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารภาครัฐสำหรับประชาชน และสนับสนุนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐผ่านสื่อต่างๆ ของสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสถาบันวิชาการทีโอที บมจ.ทีโอที จัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายและส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่ประชาชน ซึ่งจะเน้นการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และมุ่งเน้นการประสานงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่ชุมชน โดยกิจกรรมการสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้ด้านดิจิทัลและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ และการส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐแก่วิทยากรแกนนำเน็ตประชารัฐ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ และการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระดับพื้นฐาน ให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนจาก 24,700 หมู่บ้าน และสามารถต่อยอดการเรียนรู้ และสร้างประโยชน์ได้ด้วยตนเอง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็ว
อย่างรู้เท่าทัน แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เป็นการฝึกอบรมหลักสูตร "การพัฒนาวิทยากรแกนนำเพื่อการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ" มีเป้าหมายในการพัฒนาวิทยากรแกนนำ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ บุคลากรของ กศน. และบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,000 คน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยแบ่งออกเป็น 5 รุ่น 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และช่วงที่สอง เป็นการจัดกิจกรรม "การสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐในชุมชน" ซึ่งมีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชน จาก 24,700 หมู่บ้านๆ ละ 4 คน รวมประมาณ 100,000 คน กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้ทั้ง 100,000 คนนี้ ไปสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้งานเน็ตประชารัฐในหมู่บ้านตนเองอีกไม่น้อยกว่า 1,000,000 คนทั่วประเทศต่อไป
"ความร่วมมือของ 4 กระทรวงครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เพื่อทำให้โครงการเน็ตประชารัฐ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต ต่อยอดไปสู่การผลักดันเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน สอดรับนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ" ปลัดกระทรวงฯ กล่าว