กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--Market-Comms
นายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตร 3/2560 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 84.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 270 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 23.44 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาส 3/2560 นี้ พลิกมีกำไร 20.81 ล้านบาท แต่ละลดร้อยละ 41.66 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 เนื่องจากในไตรมาสที่ผ่านมา มีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
สำหรับผลการดำเนินงานเฉลี่ยงวด 9 เดือนแรก (เดือนมกราคม-กันยายน 2560) บริษัทมีรายได้ 257.53 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ของปี 2559 ทั้งปี และพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ 42.48 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผลประกอบการของปี 2559 ที่ขาดทุน 211.62 ล้านบาท
รายได้และกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของธุรกิจการผลิตแร่ดีบุกที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และยอดส่งหินที่เพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการลงทุนทางด้านคมนาคมของภาครัฐ โดยในปี 2560 บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 200,000 ตัน แต่ปัจจุบันมียอดขายหินแล้วมากกว่า 240,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนธุรกิจแร่ดีบุก ได้มีการผลิตแร่ดีบุกแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิต 100 ตันต่อเดือน และยังอยู่ระหว่างการเพิ่มเครื่องบดดิน เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตแร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่าหินที่พบมีขนาดที่แข็งกว่าปกติ โดยคาดว่าจะมีปริมาณแร่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
นายวิจิตร กล่าวด้วยว่า บริษัทได้รับการต่ออายุประทานบัตรจำนวน 88 ไร่ ทำให้มีปริมาณสำรองหินอีกกว่า 4.68 ล้านตัน เตรียมพร้อมรองรับความต้องการของตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ธุรกิจพลังงานทดแทน ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรพูนสุข จำกัด จังหวัดชุมพร โดยบริษัทได้รับสิทธิเข้าร่วมทำสัญญาซื้อขายไฟฟากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แล้วจำนวน 5 เมกะวัตต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้โครงการ The Bay Phase 1 และ โครงการ The Bay District โดยทั้ง 2 โครงการมียอดโอนมากกว่าร้อยละ 60
สำหรับทิศทางการดำเนินการในปี 2561 บริษัทยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเหมืองแร่ในต่างประเทศ ทั้งในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขณะนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศ มีนโยบายเรียกคืนประทานบัตรจากผู้ประกอบการเดิมที่ไม่ดำเนินการผลิต ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัท ทำให้มีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น ส่วนธุรกิจเหมืองแร่ในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนนโยบายของภาครัฐ ส่วนธุรกิจเหมืองหินยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และระบบขนส่งทางราง
ธุรกิจพลังงานทดแทน ในประเทศ บริษัทเตรียมลงทุนโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 6 เมกะวัตต์ ส่วนในต่างประเทศ เตรียมขยายการลงทุนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยจะเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเร่งทยอยโอนบ้านในโครงการให้แล้วเสร็จ และเตรียมพื้นที่เพื่อขยายโครงการ The Bay Phase 2