กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--Francom Asia
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. และ มร. เฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้ง "ศูนย์นวัตกรรม กฟภ." ระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์ C โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จับมือร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมพัฒนาศูนย์นวัตกรรม กฟภ. (PEA Innovation Center) เพื่อนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพ และการให้บริการด้านระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ มั่นคง และมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากร และเผยแพร่ความรู้ด้านระบบไฟฟ้าและ ICT ที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grid แก่บุคคลทั่วไป โดย PEA Innovation Center จะศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ โดยคำนึงถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ประโยชน์ด้านการลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเสียในอากาศของประเทศไทย
PEA Innovation Center ถือเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทย โดยจะตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 3 อาคาร LED ของ กฟภ. เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัย คิดค้นและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า โดยจะนำเทคโนโลยีด้าน ICT ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีด้านระบบไฟฟ้า รวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grid โดยมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถใช้ในการศึกษาเรียนรู้ และทดลองใช้งาน รวมถึงมีพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ และแสดงความคิดเห็น
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวในระหว่างพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ว่า "การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหัวเว่ยจะนำองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายมาผสานเข้าด้วยกัน สร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ครอบคลุม โดยรวบรวมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเครือข่ายการสื่อสารพลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยี Internet of Things ระบบคลาวด์ด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบอื่นๆ มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่าย และเพิ่มศักยภาพระบบโครงข่ายให้มีความอัจฉริยะในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนางานด้านทรัพยากรบุคคล ตลอดจนเผยแพร่เทคโนโลยีไฟฟ้าอัจฉริยะให้เป็นที่แพร่หลาย"
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเน้นระบบสื่อสารเทคโนโลยี IP เพิ่มความเสถียรในการทำงานของเครือข่ายครอบคลุมโครงการนวัตกรรมต่างๆ ได้แก่ คลาวด์คอมพิวติ้งด้านพลังงานไฟฟ้า บิ๊กดาต้า อุปกรณ์ชาร์จพลังงานสำหรับยานยนต์สมาร์ทโฮมและการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า สองคล้องตามนโยบายของ กฟภ. ในการพัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยีในยุค PEA 4.0 เพื่อมุ่งสู่การเป็น "การไฟฟ้าแห่งอนาคต" (The Electric Utility of the Future)
"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกฟภ. เพื่อที่จะดำเนินงานให้ลุล่วงตามกรอบความร่วมมือ" มร. เฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว "เราต้องการสร้างโครงการต้นแบบร่วมกับกฟภ. เพื่อเป็นตัวอย่างและส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและขยายออกไปในระดับภูมิภาค เราภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการอันยิ่งใหญ่นี้ โดยเราจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อกลั่นกรองแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยทุกคน"
มร. เฉียง หัว ยังกล่าวเสริมด้วยว่า "หัวเว่ยขอขอบคุณคุณเสริมสกุลและทีมงานกฟภ. ที่ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการต้นแบบในครั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรม กฟภ. จะกลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญที่พร้อมรองรับความต้องการด้านไฟฟ้าภายในประเทศได้ดียิ่งขึ้น และเรามั่นใจว่าศูนย์แห่งนี้จะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล"