กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--การสำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง คนไทย กับ น้ำเมา กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 2,218 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึง ทัศนคติของคนไทยต่อ ประโยชน์ หรือ โทษ ต่อสังคมไทยจากการดื่ม เหล้า เบียร์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ระบุ มีโทษต่อสังคมไทยมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 19.3 ระบุ พอๆ กัน และ ร้อยละ 4.3 ระบุ มีประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่า
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.2 เห็นด้วยมาก ถึง มากที่สุดว่า อันตรายจากการดื่มเหล้า เบียร์ ในด้านต่างๆ คือ การบาดเจ็บ พิการ ความตายจากอุบัติเหตุ ความรุนแรง อาชญากรรม การทะเลาะวิวาท การลวนลามคุกคามทางเพศ ในขณะที่ เพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้นที่ เห็นด้วยน้อยถึงไม่เห็นด้วยเลย และ ร้อยละ 12.6 ไม่มีความเห็น
เมื่อถามถึง มาตรการ ควบคุม ปัญหาจาก ธุรกิจน้ำเมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.1 ระบุ ห้ามขายเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.8 ห้ามขายเหล้า รอบสถาบันการศึกษาห่างจากรั้ว 300 เมตร หรือ 500 เมตร และ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 70.7 ระบุควรมี กฎหมาย ห้าม เจ้าหน้าที่รัฐ รับผลประโยชน์เป็นที่ปรึกษา บริษัทน้ำเมา และบริษัทในเครือทุกชนิด โดยส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 75.7 ระบุจำเป็นต้อง บังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวด ควบคุมปัญหาจากน้ำเมา เหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทุกชนิด
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เทศกาลที่คนไทยดื่มเหล้า เบียร์ มากสุดได้แก่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 35.0 สงกรานต์ ร้อยละ 27.6 ลอยกระทง ร้อยละ 8.0 วาเลนไทน์ ร้อยละ 7.7 ออกพรรษา ร้อยละ 5.5 เข้าพรรษา ร้อยละ 4.4 ทอดผ้าป่า ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 20.6 ระบุอื่นๆ เช่น รับน้อง งานบวช งานแต่ง เป็นต้น