กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--แบรนด์ เวลท์
"PORT" หรือ บมจ.สหไทย เทอร์มินอล ลุยขยายธุรกิจท่าเรือและโลจิสติกส์ครบวงจร และ เซ็นสัญญาลูกค้ารายใหม่ สายเรือฮุนได จากเกาหลีใต้ ดันรายได้เติบโต แม้กำไรงวด 9 เดือนลดลง
นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ "PORT" กล่าวว่า " เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่หุ้นไอพีโอ PORT (ราคา 4.50 บาท) ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก และเชื่อมั่นว่าหุ้น PORT จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแผนที่ขยายธุรกิจ โดยมีแผนลงทุนการจัดซื้อเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (บาร์จ)เพิ่มเติมจำนวน 2 ลำ เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งของลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งเรือบาร์จของบริษัทฯ ที่เติบโตขึ้น และโครงการติดตั้งระบบ Mobile X-Ray ของกรม ซึ่งบริเวณท่าเรือสหไทยเพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ของกรมศุลกากร ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า เนื่องจากสามารถทำการ X-Ray ตู้สินค้าตามคำสั่งของกรมศุลกากรที่ท่าเรือสหไทยได้ทันที นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีลูกค้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ได้มีการเซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหม่ คือ สายเรือ Hyundai ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีกับผลประกอบการ ของบริษัทฯ"
นางเสาวคุณ กล่าวต่อว่า "นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีแผนที่จะลงทุน โครงการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขยายธุรกิจบริหารจัดการ ซ่อมบำรุง และจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot Service) ผ่านบริษัทย่อย BCDS เพื่อขยายความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์จากประมาณ 170,000 ทีอียู เป็น270,000 ทีอียูต่อปี อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำการต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินบริเวณท่าเรือสหไทยออกไปเป็นสัญญาระยะยาว ซึ่งช่วยให้บริษัทฯ มีความมั่นคงในด้านพื้นที่การประกอบธุรกิจมากขึ้น"
บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ให้บริการท่าเรือเอกชนครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย ให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์สำหรับทั้งเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งชายฝั่ง (Barge) โดยท่าเรือของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ (อำเภอปู่เจ้าสมิงพราย จังหวัดสมุทรปราการ) ปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่
1. ธุรกิจการให้บริการท่าเทียบเรือเชิงพาณิชย์ครบวงจรสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Feeder) และเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง (Barge) รวมถึงให้บริการบรรจุสินค้าเข้าและถ่ายสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ (CFS) และ ซ่อมแซมทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot)
2. ธุรกิจการให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางบก ภายในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบริเวณเขตพื้นที่แหลมฉบัง
3. ธุรกิจการให้บริการพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์และคลังสินค้า โดยให้บริการพื้นที่ลานพักตู้คอนเทนเนอร์และคลังจัดเก็บสินค้ากับลูกค้า ทั้งที่เป็นเขตให้บริการปกติและปลอดภาษีอากร (Free Zone) ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ให้บริการแก่ กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจ e-commerce และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม
4. ธุรกิจการให้บริการเกี่ยวเนื่องอื่นๆ อาทิ การให้บริการ Freight Forwarding เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ให้บริการท่าเรือพาณิชย์ 2 แห่งคือ ท่าเรือสหไทย และ ท่าเรือ บางกอก บาร์จ (BBT) ซึ่งเป็นบริษัทฯร่วมทุนกับสายการเดินเรือรายใหญ่ของญี่ปุ่น คือ Mitsui O.S.K. Lines (MOL) โดยในเดือนกรกฎาคมปี 2560 BBT ได้รับใบอนุญาต ICD (Inland Container Depot) ทางน้ำสำหรับท่าเรือแม่น้ำแห่งแรกของไทยในการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยเรือขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง(Barge) จากกรมศุลกากรทำให้สามารถดำเนินการทั้งด้านสินค้าขาเข้าและขาออกได้ นอกจากนี้ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ สายการเดินเรือ Mediterranean Shipping Company (MSC) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสายการเดินเรือรายใหญ่ของโลก ภายใต้ชื่อบริษัท บางกอก บาร์จ เซอร์วิส จำกัด (BBS) เพื่อให้บริการบริหารจัดการเรือขนส่งสินค้าชายฝั่ง
บริษัทฯ มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในงวดปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากรายได้รวม 841 ล้านบาทในปี 2558และรายได้รวม 830 ล้านบาทในปี 2557 โดยส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการให้บริการคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74 ล้านบาทในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิ 25 ล้านบาทในปี 2558 และจากกำไรสุทธิ 36 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 986.50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ มีรายได้ 753 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 52 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิลดลงเนื่องจาก บริษัท บางกอก บาร์จ เทอมินอล จำกัด (BBT) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีผลประกอบการขาดทุนจากการเพิ่งเริ่มดำเนินงานปลายปีก่อน และยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน ภายหลังจากที่ BBT ได้รับใบอนุญาติ ICD แล้วนั้น ทำให้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของ BBT จะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อผลประกอบการของ PORT
บุคคลในภาพ (จากซ้าย)
คุณมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
คุณวิจิตร รัตนศิริวิไล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน)
คุณยุทธ วรฉัตรธาน ประธานกรรมการ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน)
คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai
คุณเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน)
คุณวิไล ฉัททันต์รัศมี กรรมการอิสระ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน)
คุณบัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน)
คุณประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)