กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) เกินราคา" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล (ลอตเตอรี่) เกินราคา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.20 ระบุว่า ซื้อเป็นบางครั้ง รองลงมา ร้อยละ 28.40 ระบุว่า ไม่เคยซื้อเลย และร้อยละ 26.40 ซื้อเป็นประจำ
ด้านการเคยพบเห็นการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เกินราคา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.52 ระบุว่า เคยพบเห็น และร้อยละ 30.48 ระบุว่า ไม่เคยพบเห็น
เมื่อถามผู้ที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลถึงการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เกินราคา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.25 ระบุว่า เคยซื้อ เพราะ เป็นเลขที่ชอบ เลขยอดนิยม ชอบเลขชุด อยากรวย บางส่วนระบุว่า เห็นใจคนขาย รับมาแพง ไม่ทราบราคาที่แน่นอน ส่วนใหญ่ขายเกินราคาอยู่แล้ว และร้อยละ 35.75 ระบุว่า ไม่เคยซื้อ เพราะ ราคาแพงเกินกว่าที่รัฐกำหนด ไม่อยากสนับสนุนให้ขายเกินราคา และไม่เคยพบเห็นการขายเกินราคา
สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.90 ระบุว่า เพิ่มบทลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคาและลงโทษอย่างจริงจัง รองลงมา ร้อยละ 21.79 ระบุว่า ยกเลิกระบบคนกลาง ร้อยละ 12.62 ระบุว่า ให้มีตู้อัตโนมัติจำหน่ายสลาก ร้อยละ 12.01 ระบุว่า รณรงค์ไม่อุดหนุนผู้ที่ขายสลากเกินราคา ร้อยละ 8.23 ระบุว่า ระบบหวยออนไลน์ ร้อยละ 2.09 ระบุว่า น่าจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ร้อยละ 5.74 อื่น ๆ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ควรลงพื้นที่ตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมราคาให้มีมาตรฐาน เพิ่มจำนวนสลากให้มากขึ้น กำหนดโควตาการซื้อสลากของพ่อค้าคนกลาง ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และร้อยละ 12.62 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่จะทำหากพบเห็นการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.19 ระบุว่า ไม่ทำอะไรเลย รองลงมา ร้อยละ 36.14 ระบุว่า ไม่ซื้อสลาก ร้อยละ 15.46 ระบุว่า บอกคนขายสลากว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ร้อยละ 4.37 ระบุว่า แจ้งตำรวจ และร้อยละ 3.84 ระบุว่า แจ้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.96 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.60 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและ ภาคกลาง ร้อยละ 17.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 49.12 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.88 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 9.12 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ร้อยละ 15.12 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.24 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.44 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.20 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 90.00นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.92 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.88 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 24.00 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 65.04 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 5.52 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 29.84 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.12 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.84 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.12 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.48 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.16 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.48 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 17.68ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.84 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.40 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.68 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 6.80 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 15.92 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 24.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 20.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 8.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 6.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 19.12 ไม่ระบุรายได้