กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระตุ้นจิตสำนึกคนไทยให้ตระหนักความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดความสูญเสียจากการกินทิ้งกินขว้าง พร้อมเน้นย้ำความสำคัญด้านภาวะโภชนาการสู่การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาวันอาหารโลก (World Food Day) ประจำปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพ ฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ ได้จัดงานวันอาหารโลกขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการจัดงานวันอาหารโลกในประเทศไทยแต่ละปี จะจัดขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่ ระดับโลก ซึ่งจัดพร้อมกับประเทศสมาชิกทั่วโลกในวันที่ 16 ตุลาคม โดย เอฟ เอ โอ เป็นผู้จัดขึ้นที่ สำนักงาน เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ ส่วนการจัดงานระดับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ และ เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก เป็นผู้จัดขึ้น ซึ่งการจัดงานวันอาหารโลกในปี 2560 เอฟ เอ โอ ได้กำหนดหัวข้อรณรงค์ว่า "Change the Future of Migration, Invest in Food Security and Rural Development" (เปลี่ยนอนาคตของการอพยพย้ายถิ่น ด้วยการลงทุนเพื่อความมั่นคงอาหารและพัฒนาชนบท) ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของการอพยพ ความมั่นคงอาหาร และการพัฒนาชนบท เนื่องจากในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการอพยพย้ายถิ่นมากเป็นประวัติการณ์ของโลก ทั้งการอพยพภายในประเทศ และอพยพข้ามประเทศ โดยสาเหตุสำคัญมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ภัยพิบัติต่างๆ และความยากจน ซึ่งการอพยพเหล่านี้ ส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อที่อยู่ใหม่ แต่เป็นผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารและการพัฒนาชนบท และกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งประเทศไทย ได้ตั้งปณิธานที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 1 (การขจัดความยากจน) และเป้าหมายที่ 2 (การขจัดความหิวโหยให้หมดไป หรือ Zero Hunger Challenge –ZHC )
สำหรับการจัดงานวันอาหารโลกในปี 2560 จะเน้นเรื่องการขจัดความหิวโหย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการทูลเกล้าฯ จาก เอฟ เอ โอ ดำรงตำแหน่ง ทูตพิเศษด้านความหิวโหยสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจาก เอฟ เอ โอ เมื่อเดือนตุลาคม 2559 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนางานวันอาหารโลก (World Food Day) ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อ "หยุดความหิวโหยอย่างยั่งยืน (Sustainable Zero Hunger)" ขึ้น ในระหว่างวันที่ 22 - 23 พฤศจิกายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพ และจัดการศึกษาดูงาน และบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสูญเสียในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์กะทิ ผัก และผลไม้ และกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและเนื้อสัตว์ ที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา รวมประมาณ 150 คน ประกอบด้วย ข้าราชการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานภายนอกประมาณ 110 คน และนักเรียน/นักศึกษา สถาบันการศึกษา 40 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชาวไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นคงอาหารต่อมวลมนุษย์ และได้รับรู้ถึงสาเหตุของความอดอยากหิวโหยที่ยังคงมีอยู่ รวมทั้งการลดสูญเสียหายของอาหาร การกินทิ้งกินขว้าง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร และภาวะโภชนาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตร
"กระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงของการอพยพ ความมั่นคงอาหาร และการพัฒนาชนบท เพื่อขจัดความหิวโหยให้หมดไป ด้วยการร่วมกันสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน ในการกระตุ้นให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐบาล สถาบันการเงิน ภาคเอกชน และประเทศต่างๆ ร่วมมือกันพัฒนา แก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ประมง ป่าไม้ โภชนาการ และการพัฒนาชนบท รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวชนบท ในการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาการผลิต การพึ่งพาตนเอง และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวชนบทให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ" นายระพีภัทร์ กล่าว