กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ
องค์การยูนิโด ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบรางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 ล้านบาทและทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมในงาน Cleantech Open Global Forum ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand สำหรับ SMEs และ Start-up ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะแผนธุรกิจและนำเสนอผลงานนวัตกรรม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560
และทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมแพค (PAC) จังหวัดกรุงเทพมหานคร สาขาการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย นางอัจฉรา ปู่มี นายอภิชาติ ปู่มี นายณัฐพล มัญชะสิงห์ และนางสุชรัตน์ ประเสริฐสวัสดิ์ เป็นนวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศโดยนำพลังงานความร้อนจากเครื่องปรับอากาศมาใช้ผลิตน้ำร้อนช่วยประหยัดพลังงาน
ด้าน มร. จอสซี่ โทมัส ผู้แทนจากสำนักงานส่วนภูมิภาคองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูนิโด (UNIDO) กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของเมือง และการเจริญเติบโตของโลกปัจจุบันนำไปสู่ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดให้มากยิ่งขึ้น และเป็นพันธกิจหลักของยูนิโดในการสร้างความยั่งยืนทางพลังงานและเทคโนโลยีสะอาด
เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การคิดค้นหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของผู้ประกอบการ SMEs/Startups เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) และเครือข่ายการลงทุน (Angels Network) โดยนำรูปแบบของ Cleantech Open ในซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกาฯ
มาประยุกต์ใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ริเริ่มธุรกิจ (Startups) ของประเทศไทยที่สนใจดำเนินธุรกิจที่ลดคาร์บอนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดแก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายไทยในการในการดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดของ SMEs ในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี และมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศน์แห่งนวัตกรรม (Innvation Eco System) มีกิจกรรมหลัก ๆ อาทิ การจัดประกวดนวัตกรรม จัดประชุมทางธุรกิจพบปะนักลงทุน ฝึกอบรม Business Clinic กิจกรรม Mock Judging การนำเสนอแผนธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ ในระดับโลก ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ของประเทศไทย
ดร.วรวิทย์ จิรัฐิติเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาขีดความสามารถวิสาหกิจด้วยดิจิทัล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า
จากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมโดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่สนับสนุนให้สถานประกอบการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs/Startupsที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดและพร้อมที่จะต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมีความต้องการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจนวัตกรรมของตนเองให้แข่งขันในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานพันธมิตรในการดำเนินโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดโอกาสใหม่ของธุรกิจ SMEs โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการฯ โดยได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อดำเนินโครงการภายในระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs/Startups ให้ต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่สู่เชิงพาณิชย์ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมการผลิตการค้า และบริการที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สร้างเครือข่ายพันธมิตรและระบบ Ecosystem ของงานนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด แบบครบวงจรและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม รวมทั้งพัฒนารูปแบบการต่อยอดงานวิจัยจากบนหิ้งเข้าสู่ห้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของนักวิจัย ผู้ประกอบการ และนักวิชาการที่มีงานวิจัยนวัตกรรมและพร้อมที่จะต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม
ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสะอาดของไทย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ โดย สวทช. รับผิดชอบการฝึกอบรมพี่เลี้ยง (Mentors) ด้านเทคโนโลยีสะอาด และการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้พี่เลี้ยงที่มีความพร้อมเข้าบ่มเพาะและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs/Startups ที่เข้าร่วมโครงการ ตามรูปแบบการบ่มเพาะ (Incubation) และเร่งรัดธุรกิจ (Acceleration) จากตัวอย่างรูปแบบโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่ม Start-up
ให้หันมาสนใจสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีสะอาดภายในประเทศ
รศ. ดร. ชาติ เจียมไชยศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand) เป็นโครงการที่ผลักดันให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด เพื่อขยายขีดความสามารถงานนวัตกรรมของประเทศ รองรับตลาดโลกเน้น 6 สาขานวัตกรรม ได้แก่ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
การใช้ของเสียเป็นประโยชน์ (Waste to Benefits) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาคารสีเขียว (Green Building) และการขนส่ง (Transportation) โดยดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่ม Start-up หรือผู้สนใจด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด จากทั่วประเทศ และคัดเลือก SMEs/Startups ให้เหลือ จำนวน 25 กิจการต่อปี โดยมีพี่เลี้ยง (Mentors)
ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดเป็นผู้ให้ความรู้ และกิจกรรมพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs/Startups ผ่านสื่อการสอนทั้งในและต่างประเทศ และการตัดสินรางวัล เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ SMEs ไทยสามารถนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เช่น กองทุนร่วมลงทุน (เวนเจอร์แคปปิตอล) และแองเจิ้ล เน็ตเวิร์ก ฯลฯ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme
for SMEs in Thailand อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร คอลงเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2367
8195, 0 2367 8128 หรือที่ http://gcipthai.org หรือ http://thailand.cleantechopen.org