กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การทำนาปลูกข้าวของไทย มีมาตั้งแต่ยุคโบราณและเป็นอาชีพหลักของคนไทย ในอดีตการทำนาใช้แรงงานคนในครอบครัวและแรงงานสัตว์เป็นหลัก พึ่งพาน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำลำคลองในการเพาะปลูก และใช้ในชีวิตประจำวัน ลักษณะการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และพึ่งพาตนเอง ทำให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและพึ่งพากัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นสุข การทำนาจึงมีความสำคัญต่อคนไทย คนรุ่นหลังจึงควรรักษาและสืบทอดความรู้การทำนาของไทยต่อไป
โครงการพัฒนาเกม The Farmer's Barn ยุ้งฉางแสนรัก ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมิเดีย สาขาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย นางสาวเจนจิรา แก้วศรีเมือง นางสาวฐิติมา โค้ดารงค์ นางสาวธนาภรณ์ เพาะทรัพย์เจริญ นายพิสุทธิ์ อูปแก้ว นายวุฒิชัย ปัญญาสูง และนายพีรพันธ์ แก่นสาร โดยมี ผศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เกมได้พัฒนาโดยซอฟท์แวร์ซึ่งรันแบบ Cross Platform ระหว่างระบบปฏิบัติการ Windows และ Android โดยใช้ ARSA Framework เป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่สำคัญในการพัฒนาเกมในครั้งนี้ เนื้อหาเกมเกี่ยวกับการทำนาของคนไทย เริ่มตั้งแต่การไถนาเตรียมพื้นที่ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยได้ประยุกต์ขั้นตอนเหล่านั้นมาพัฒนาเป็นเกม The Farmer's Barn ยุ้งฉางแสนรัก เพื่อให้ผู้เล่นเข้าใจถึงขั้นตอนการทำนา ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่สนุกสนานในรูปแบบของเกม
นายพิสุทธิ์ อูปแก้ว เล่าว่า เริ่มจากการทำโปรเจคในวิชาการพัฒนาเกม โดยมีแนวคิดอยากอนุรักษ์ความเป็นไทย ซึ่งมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ ข้าว และที่สำคัญพื้นฐานครอบครัวมาจากอาชีพเกษตรกร จึงได้ศึกษาข้อมูลขั้นตอนเกี่ยวกับการทำนา เช่น การไถนา พรวนดิน เพาะต้นกล้า ดำนาปลูกข้าว ดูแลรักษาใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยว นำมาประยุกต์เพื่อพัฒนาเป็นเกม เหมาะสำหรับเด็กนักเรียน เยาวชน และบุคคลทั่วไป ให้ตระหนักถึงคุณค่าของความสำคัญของการเกษตร รู้จักขั้นตอนวิธีการทำนา มีความรู้ ความเข้าใจในการทำเกษตร ก่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหน และหันมาอนุรักษ์การเกษตรของไทย
นายพีรพันธ์ แก่นสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 (National Software Contest - NSC19) ปี พ.ศ. 2560 และได้รับเงินรางวัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเกม 3,000 บาท ได้รับการจดรหัสสิ่งประดิษฐ์ไทย รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เลขที่ลิขสิทธิ์ รับรองโดยสำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยในอนาคตตั้งใจว่าจะพัฒนาเกมให้มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเป็นการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวให้กับผู้เล่นอีกด้วย