กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รมว.พิเชฐฯ ร่วมถกเครือข่ายสตาร์ทอัพ GEN Global ชู "ประชารัฐ" ความมุ่งมั่นรัฐบาลไทย สร้างระบบนิเวศผลักดันผู้ประกอบการดิจิทัล
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมประชุมเพื่อเตรียมการประชุม Global Entrepreneurship Congress 2018 เวทีแลกเปลี่ยนนโยบายเพื่อสร้างระบบนิเวศพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัล ชี้รัฐบาลไทยมุ่งมั่นใช้แนวทาง "ประชารัฐ" ผลักดันผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในฐานะ ที่ปรึกษากำหนดทิศทางระดับรัฐมนตรี ของเครือข่ายสตาร์ทอัพ GEN Global ที่มีสมาชิกกว่า 165 ประเทศทั่วโลก ได้เข้าร่วมการประชุมคณะที่ปรึกษากำหนดทิศทางระดับรัฐมนตรี สำหรับการประชุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรี และผู้แทนจากประเทศต่างๆ รวมถึงผู้แทนธนาคารโลก และสหภาพยุโรป เข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ณ กรุงทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย
สำหรับการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเตรียมการสำหรับการประชุม Global Entrepreneurship Congress 2018 ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2561 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบและระบบนิเวศ รวมถึงโปรแกรมที่ใช้สนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน (Digital Disruption) ซึ่งผู้แทนจากธนาคารโลกยินดีที่จะสนับสนุนโปรแกรมการสร้างผู้ประกอบการ ทั้ง ในส่วนผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มนักลงทุน ในขณะที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายในการสนับสนุนนักลงทุนจึงจะเกิดการเติบโตของผลผลิตและผลลัพธ์ที่ดีได้ นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการพัฒนานโยบาย ซึ่งควรมีขั้นตอนในการดำเนินการ ได้แก่ การออกแบบและกระบวนการคัดเลือกเพื่อให้เหมาะสมกับช่องว่างด้านระบบนิเวศน์และความต้องการของตลาด การประเมินผลกระทบของนวัตกรรม ความเข้าใจระบบนิเวศของผลการใช้เครื่องมือ การร่วมกันของภาคเอกชนและภาครัฐในการลงทุน
"ในการประชุมครั้งนี้ได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า องค์ประกอบที่สำคัญต่อการสร้างระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ คือ การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างตลาด การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนา การสนับสนุนเงินทุน การสร้างวัฒนธรรมที่เหมาะสม การส่งเสริมนวัตกรรม และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยทั้งหมดรวมกันเป็นระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านดิจิทัล
รัฐบาลไทยมีความพยายามเป็นอย่างมาก ในการดึงดูดให้ภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จเข้ามามีส่วนร่วม ในการดำเนินการหลักในโครงการต่างๆ โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน หรือที่เรียกว่า "ประชารัฐ" เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์เมื่อร่วมมือกับภาครัฐ โดยการกำหนดบทบาทของภาครัฐอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากธนาคารโลก (World Bank) ให้เป็นประเทศลำดับที่ 20 ต้นๆ ของความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในไทย (Ease of Doing Business)" รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องในเรื่องการกำหนดบทบาทการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีการทำงานร่วมกัน รวมทั้งความชัดเจนในรูปแบบการลงทุนหรือแหล่งเงินทุนต่างๆ ในอนาคต ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม การวิจัย สร้างแนวทางพัฒนาทักษะใหม่ และส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศนั้นๆ จะเป็นการเพิ่มผลผลิต ซึ่งมีผลกระทบต่อการสร้างงาน และส่งผลถึง GDP ของประเทศอีกด้วย