กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ หารือทวิภาคีร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการสื่อสาร สาธารณรัฐเอสโตเนีย เตรียมจัดทำ MOU ร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ชี้ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องสำคัญในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการหารือทวิภาคีกับ นายไซอิม ซิกคุต (Mr.Siim Sikkut) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการสื่อสาร สาธารณรัฐเอสโตเนีย ณ กระทรวงเศรษฐกิจและการสื่อสาร กรุงทาลลินน์ สาธารณรัฐเอสโตเนีย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบันของทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยได้ยกตัวอย่างกิจกรรมสำคัญของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้ดำเนินการโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (เน็ตประชารัฐ) ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประชาชน ในเขตเมืองและชนบทของประเทศ โดยภายในปี 2561 ประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านทั่วประเทศจำนวน 75,000 หมู่บ้าน เพื่อขยายผลไปสู่การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสาธารณสุข อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเริ่มต้นเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมด้านพลังงาน เป็นต้น โดยมีโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วที่จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดนำร่อง
ในการหารือทวิภาคีครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเรื่องดังกล่าวภายในปี 2561 โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง 20 กระทรวง ด้านสาธารณรัฐเอสโตเนียได้ดำเนินการสร้างระบบ E-Estonia เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะต่างๆ อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เช่น ข้อมูลการเสียภาษี ประวัติการรักษาพยาบาลของประชาชน รวมถึงการออกเสียงเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งสาธารณรัฐเอสโตเนียยึดหลักการสร้างความโปร่งใส ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา โดยมีระบบป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการจัดทำบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกันในอนาคตอีกด้วย
"การได้เรียนรู้จากเอสโตเนีย ในมิติของการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกภาคส่วนราชการ ทำให้ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนวิธีการคิด กระบวนการทางราชการ ปรับกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการเป็นรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงความพร้อมของประชาชน และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่มีความสำคัญ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ต้องได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี" ดร.พิเชฐฯ กล่าว