กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันจัดกิจกรรม We Grow ตอนปฏิบัติการถาดหลุมสีเขียว เพื่อเปิดตัวโครงการอาหารกลางวันยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนเหมาะสมกับวัย ใช้วัตถุดิบจากการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการอาหารกลางวันยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ, มูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นโครงการด้วยการจัดอบรมครูและบุคลากรของโรงเรียนเรื่อง ผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพ ในพื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร พังงา และปทุมธานี
นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าวถึงความสำคัญของการจัดอบรมบุคลากรในโรงเรียนว่า
"จากการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยง โดยการตรวจพืชผักและผลไม้ที่ใช้สำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน และตรวจเลือดและปัสสาวะของนักเรียนและครูในโรงเรียนประถมศึกษา พบว่าผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และวัตถุดิบเครื่องปรุงที่โรงเรียนซื้อในตลาดมีสารตกค้างในปริมาณสูง และเด็กนักเรียนและครูมีสารกำจัดศัตรูพืชในเลือดและปัสสาวะเช่นกัน นอกจากนี้ เด็กนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับสารกำจัดศัตรูพืชจากการฉีดพ่นมากกว่า 200 วันต่อปี
ผลลัพท์ข้างต้นทำให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังขาดความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กอยู่มาก รวมถึงขาดมาตรการและกฏระเบียบในการปกป้องนักเรียนและชุมชนจากผลกระทบเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และหันหน้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน เด็กนักเรียนทุกคนทั้งในเมืองและชนบทจำเป็นต้องได้กินอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเขาจริง ๆ และปลอดภัยจากสารพิษเหล่านี้" นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าว
การอบรมครูมีทั้งหมดสามหลักสูตรคือ การจัดการสารเคมี นิเวศเกษตร และโภชนาการ โดยเนื้อหาครอบคลุมถึงสถานการณ์สารเคมีทางการเกษตรและการวิเคราะห์สถานการณ์อาหารในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม การศึกษาเรื่องสารเคมีและการดูดซึมและสถานการณ์การผลิตอาหารของพืชและสัตว์ รวมถึงการทดสอบสารตกค้างในอาหารสดและลงพื้นที่สำรวจชุมชนด้วย
นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า
"อาหารกลางวันของเด็ก ๆ จะต้องมาจากวัตถุดิบที่ปลอดภัย หากโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนรับประทานผักอินทรีย์มากขึ้นไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสุขภาพของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย"
ปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันของนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้แก่โรงเรียนในภาครัฐ เป็นจำนวน 20 บาทต่อคนต่อมื้อ โดยโรงเรียนมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารกลางวันให้กับนักเรียน
"คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกโรงเรียนจะผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนของตัวเองโดยการปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคภายในโรงเรียน เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ทุกโรงเรียนสามารถจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนโดยการเชื่อมโยงโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการผลผลิตที่ปลอดภัยของโรงเรียนนั้นคือสิ่งสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพราะจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตรจากเดิมที่เน้นความสวยงามของผลผลิตเป็นหลัก ไปสู่การผลิตเชิงนิเวศที่ใส่ใจต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัวเกษตรกรเองก็จะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการใช่สารเคมีเกษตรที่รุนแรง ส่วนลูกหลานของพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สมควรจะได้รับ" นายวัชรพล กล่าวเสริม
การพัฒนาระบบอาหารกลางวันของนักเรียนให้มีความปลอดภัยนั้น หลายโรงเรียนในโครงการ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างรอบโรงเรียนให้กลายเป็นแปลงปลูกผักอินทรีย์ที่เด็ก ๆ และคุณครูมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าสิ่งที่พวกเขารับประทานนั้นปลอดภัยจริง ๆ และช่วยให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารกลางวัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกผัก แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเยาวชนว่าการเกษตรเชิงนิเวศเป็นสิ่งที่ทำได้จริง และเป็นเรื่องที่แม้แต่เด็ก ๆ ก็ทำได้
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้เด็กหันมารับประทานผักให้มากขึ้น ทางกรีนพีซจึงได้เชิญร้านอาหารเพื่อสุขภาพชั้นนำอย่าง ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง และต้นกล้า ฟ้าใส มาแข่งกันออกแบบเมนูอาหารกลางวันจากผักพื้นบ้านให้ดูน่าสนใจ อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้เด็ก ๆ มีทัศนคิดที่ดีในการรับประทานผัก และทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในกรอบของงบประมาณอาหารกลางวันด้วย
นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงบทบาทและเป้าหมายของของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการพัฒนานโยบายอาหารกลางวันในโรงเรียนว่า "สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องรับผิดชอบนักเรียนจำนวนหลักล้านคน และนักเรียนทุกคนต้องได้กินอาหารกลางวันจากงบประมาณที่ทางรัฐบาลจัดสรรให้ 20 บาทต่อคนในเวลา 200 วัน โดยเราจะจ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ยังคงมีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการคือ ผอม เตี้ย และอ้วนอยู่ ดังนั้น สพฐ.จึงต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย เช่น เราจะให้ความรู้ทางด้านโภชนาการเรื่องอาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ ให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง ส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตร การสหกรณ์ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจนเกิดทักษะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนประสานความร่วมมือกับชุมชนผลิตวัตถุดิบปลอดสารพิษให้กับโครงการอาหารกลางวัน"
ดร.วิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า "เราส่งเสริมและพยายามเสริมสร้างจิตสำนึกให้ทุกโรงเรียนเลือกซื้ออาหารที่ปราศจากสารพิษ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อได้เด็กนักเรียนและครูได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและส่งผลดีต่อสุขภาพ"
กิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการพูดคุยในหัวข้อ "ทำได้ไหม? อาหารกลางวันที่ปลอดภัยต่อเด็ก ๆ และโลก" พร้อมการแข่งขันทำอาหารระหว่างร้านปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง กับร้านอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพอย่างต้นกล้า ฟ้าใส เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าอาหารที่ปรุงจากผักปลอดสารพิษนั้นอร่อยและไม่แพงอย่างที่คิด พร้อมเวิร์คช็อป "การทำหลอดผักบุ้งด้วยตัวเอง" จากร้านปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมคุณครูจาก 12 โรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี ควบคู่ไปกับการเปิดตัวโครงการ โดยการอบรมจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 20 - พุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงเรียนวัดขุมแก้ว อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี