กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ธนาคารออมสิน
นักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่จากโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ขอบคุณออมสินพาดูงานเทคโนโลยีทันสมัย-การจัดการสินค้าของชุมชนที่เข้มแข็งของแดนซามูไร ชี้ได้ประโยชน์มาก เตรียมต่อยอดตั้งเป้าวางแผนพัฒนาขยายงาน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายหลังการตัดสินโครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง" ธนาคารออมสินได้พา 10 ทีมสุดท้ายร่วมโปรแกรม Outing Startup เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยจัดตารางดูงานที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านความทันสมัยทางเทคโนโลยี ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้า นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจาก นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดสถานทูตให้การต้อนรับ พร้อมทั้งให้รายละเอียดนโยบายพัฒนา SMEs StartUp ท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Cool Japan ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2545 และนโยบาย Smart City อย่างมีประสิทธิภาพ
"นอกจากการดูงานด้านต่างๆ แล้วในปีนี้ยังมีความพิเศษมาก โดยน้องๆ ได้รับโอกาสเข้าคารวะ นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งท่านให้เกียรติมาบอกเล่าถึงนโยบายพัฒนา SMEs Start-Up ท้องถิ่นของญี่ปุ่น และนอกจากนี้ นายบวร สัตยาวุฒิพงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรม ได้บรรยายเกี่ยวกับ Smart city ให้แก่คณะได้รับฟัง นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ของเราอย่างมาก" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
โปรแกรม Outing Startup การดูงานประเทศญี่ปุ่น โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ประกอบด้วย การดูงาน"พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีอันทันสมัย TEPIA" โดย Association for Technological Excellence Promoting Innovative Advances (สมาคมส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันทันสมัย) ดูงาน"ชุมชน Biwa Club" ซึ่งเป็น Road Station โดดเด่นเรื่องแนวคิดการพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้า ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ ปี 2543 ให้เป็นศูนย์บริการ ริมทางดีเด่นที่สุดในญี่ปุ่น ดูงาน Antenna Shop (OTOP) ร้านค้าซึ่งรวมผลิตภัณฑ์เด่นจากทุกตำบลหรือจังหวัดต่างๆ หรือเรียกว่าร้าน 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และดูงาน SMRJ Incubation Centre หน่วยงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของญี่ปุ่น SMRJ (The Organization for Small & Medium Enterprises and Regional Innovation, JAPAN) องค์กรอิสระภายใต้ METI เกิดจากการรวมตัวระหว่างภาครัฐและเอกชน สถาบันการเงิน สถาบันวิจัยต่างๆ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Centre) เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาทำวิจัยร่วมกันและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด รวมถึงดูงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม (Industrial Promotion Centre: IPC) หน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม (คล้าย SMRJ ต่างกันที่ IPC เป็นการสนับสนุนระดับจังหวัด ขณะที่ SMRJ สนับสนุนระดับประเทศ)
นักธุรกิจสายพันธุ์ใหม่ ชี้ดูงานญี่ปุ่นได้ประโยชน์-เตรียมต่อยอดขยายงานทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินทุนประเดิม 1,000,000 บาท คือ ทีม SHIPPOP แผนธุรกิจ คือ จัดทำเว็บไซต์ www.shippop.com เป็นระบบจองขนส่งออนไลน์ เปรียบเทียบราคาขนส่ง ชำระค่าขนส่งออนไลน์ สร้างใบปะหน้าพัสดุ และติดตามพัสดุได้จากระบบในที่เดียว ทำให้การจัดส่งพัสดุรวดเร็วและสะดวกขึ้น เพราะมีช่องบริการ Drop-off ที่ไปรษณีย์ทำให้ไม่ต้องเข้าคิว ซึ่งยังมีบริการรับพัสดุถึงบ้าน ช่วยให้การจัดส่งพัสดุง่าย สะดวก และเป็นระบบมากยิ่งขึ้น สามารถลดเวลาในการจัดส่งพัสดุได้ถึง 60% และต้นทุนการจัดส่งพัสดุ 30%
นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ จากทีม SHIPPOP กล่าวว่า "เราเป็นบริษัทแรกในประเทศที่รวบรวมขนส่งไว้ในเว็บไซต์เดียว มีระบบการเชื่อมต่อที่ง่ายเพียงเชื่อมต่อ API ที่เดียวสามารถเข้าถึงทุกผู้ให้บริการขนส่ง เชื่อมต่อกับ E-commerce Platform มากที่สุดในประเทศ ให้บริการลูกค้าทุกอย่างฟรี ขณะนี้มีการขยายตลาดโดยจอยท์ เวนเจอร์กับประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์ และแผนงานในปีหน้าจะขยายตลาดไปกัมพูชา เวียดนาม เรามีเป้าหมายที่จะเป็นที่ 1 ของอาเซียนในธุรกิจนี้ สำหรับการไปดูงานที่ญี่ปุ่นนับเป็นโอกาสดีที่ได้รับจากธนาคารออมสิน และยังเป็นการเพิ่มช่องธุรกิจให้กับบริษัทที่จะขยายตลาดไปประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย"
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินทุนประเดิม 500,000 บาท ทีม Fresh Water Shrimp Farm Ecosystem โมเดลธุรกิจ คือ ระบบกระชังเลี้ยงกุ้งและบำบัดน้ำแบบประหยัดพลังงาน ออกแบบ พัฒนา ติดตั้ง ติดตามและบำรุงรักษา ระบบกระชังเลี้ยงกุ้งและบำบัดน้ำแบบประหยัดพลังงาน ด้วยเทคโนโลยีเดียวกับระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ซึ่งผ่านการทดลองเป็นผลสำเร็จแล้ว มีกลุ่มเป้าหมายคือ บ่อกุ้งเลี้ยงแบบธรรมชาติ
นางสาวนาฏอนงค์ วิมุกตะนันทน์ ทีม Fresh Water Shrimp Farm Ecosystem กล่าวว่า ได้นำเงินทุนประเดิมไปทำ prototype ระบบและอุปกรณ์ทดลองการเก็บค่าน้ำ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้างกระชังที่บ่อกุ้งที่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ของเกษตรกรที่ได้เจรจาร่วมโครงการ ซึ่งจะมีเวลาในการทดสอบ 2 cycle หรือประมาณ 8 เดือน เพื่อนำผลที่ได้รับไปใช้สำหรับขยายโครงการต่อไป
รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินทุนประเดิม 200,000 บาท ทีม "จับจ่าย ฟอร์ สคูล" โมเดลธุรกิจ คือระบบการจัดการที่ช่วยแก้ปัญหาของระบบการศึกษาไทยได้อย่างตรงจุดและครอบคลุม ลดภาระการทำงานของครู เพื่อให้มีเวลาไปเพิ่มศักยภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงผู้บริหารสามารถดูสถิติภาพรวมของโรงเรียนได้เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาโรงเรียน และยังเชื่อมต่อให้ผู้ปกครองติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของบุตรหลาน รวมถึงติดตามข่าวสารต่างๆ ของโรงเรียน ทำให้สังคมของโรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ด้วยการแจ้งเตือนต่างๆ ผ่าน Mobile Application
นายนรินทร์ คูรานา เจ้าของระบบ จับจ่าย ฟอร์ สคูล กล่าวว่า"เราเป็นระบบเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft Azure จึงมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัยและความเสถียร อีกทั้ง ณ ปัจจุบันยังมีโรงเรียนต้นแบบทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยระบบได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดการทำงานของครูได้มากกว่า 200% และผู้ปกครองสามารถทราบความคืบหน้าของบุตรหลานได้แบบ Real Time ในอนาคตตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนโรงเรียนเข้าระบบให้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ"
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่ www.gsb100tomillion.com หรือ www.facebook.com/gsb100tomillion